การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 คึกคักยิ่ง เมื่อ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ได้ตัดสินใจลงสมัครเป็นผู้ว่าฯ กทม. โดยไม่สังกัดพรรคการเมือง และมี “กลุ่มรักษ์กรุงเทพ” สนับสนุนขึ้นป้าย “ทีมอัศวิน” แม้จะเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ แต่ก็ทำให้โพลของสำนักต่างๆ เริ่มแกว่งไกว ชวนเร้าใจยิ่ง
การลงสนามแข่งขันของ พล.ต.อ.อัสวิน ขวัญเมือง เพราะต้องการสานต่องานเดิมที่ทำไว้แล้ว เช่น การแก้ปัญหาน้ำท่วม การสร้างภูมิทัศน์เมือง การเพิ่มพื้นที่สีเขียว พัฒนาคลองโอ่งอ่างและคลองผดุงกรุงเกษมดูแลช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ด้วยความเอาใจใส่
โดยชูนโยบาย “กรุงเทพฯ 8 ต่อ” ประกอบด้วย ต่อที่ 1 : แก้ปัญหาน้ำท่วม ลดจุดเสี่ยงน้ำท่วม และมุ่งสู่เมืองปลอดน้ำท่วม ต่อที่ 2 : สร้างความสะดวกในทุกการเดินทาง ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า เพิ่มเรือโดยสารไฟฟ้า (EV) ต่อที่ 3 : สร้างสุขภาพที่ดีให้กับคนเมืองหลวง ต่อที่ 4 : สร้างสิ่งแวดล้อมเมืองที่ดี เดินหน้าเพิ่มพื้นที่สีเขียว 10 ตารางเมตรต่อคน ต่อที่ 5 : ทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ เพิ่มค่าอาหารกลางวันให้นักเรียน ต่อที่ 6 : เติมเต็มความปลอดภัยให้กับคนเมือง ติดตั้ง CCTV ตามจุดเสี่ยง ต่อที่ 7 : เชื่อมกรุงเทพฯ สู่เมืองดิจิทัล ต่อที่ 8 : ดูแลคนทุกกลุ่ม ทุกวัย ทุกคนต้องได้รับการบริการจากภาครัฐอย่างรวดเร็ว
ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ “กลุ่มรักษ์กรุงเทพ” ที่ออกมาเคลื่อนไหวช่วยเหลือชาวบ้านตามชุมชนต่างๆ มานานเกือบ 2 ปี ได้ออกมาประกาศว่าจะยืนเคียงข้างและสนับสนุน พล.ต.อ.อัศวิน ให้ได้กลับมาเป็นผู้ว่าฯ อีกครั้ง เพราะชื่นชอบกับผลงานของอดีตผู้ว่าฯอัศวิน และนโยบาย “กรุงเทพฯ 8 ต่อ” โดยพร้อมใจกันส่งคนลงสมัครเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) ในนาม “กลุ่มรักษ์กรุงเทพ”อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง
ในส่วนของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) ทั้ง 50 เขต มี สก.เขตละ 1 คน แต่มีผู้สมัครเป็น สก. รวมทั้งสิ้น 382 คน และเมื่อโฟกัสไปที่การเลือกตั้ง ส.ก. เขตบางรัก ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใจกลางเมืองหลวง เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่อง คอนโดมิเนียม และโรงแรมหรู อีกทั้งราคาที่ดินในเขตบางรัก ถือว่ามีมูลค่าแพงสุดในประเทศ และยังเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้มากที่สุดอีกด้วย
จำนวนผู้สมัครลงชิงตำแหน่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตบางรัก ครั้งนี้ มีทั้งสิ้น 9 คน
เบอร์ 1 : นายสุวิทย์ เลิศธนากุลวัฒน์ (พรรคประชาธิปัตย์) นักธุรกิจเก่าย่านบางรักที่ทำธุรกิจในเครือสวารอฟสกี้ อัญญมณี และครีมกวนอิม ลงสมัคร สก.ภายใต้นโยบาย “เปลี่ยนชีวิต คนกรุงเทพฯ” 1. เงินเต็มบ้าน งานเต็มมือ 2. หมอมี สาธารณสุขดี ใกล้บ้าน 3. โรงเรียนดี ใกล้บ้าน
เบอร์ 2 : นางสาวณัฐริกา เกื้อเดช (พรรครวมไทยยูไนเต็ด) ทำธุรกิจฟาร์มหอยนางรม ชูสโลแกน “รวมกันคิด รวมกันทำ รวมกันสร้าง” เพื่อจะเข้าไปตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร รับฟังความต้องการของประชาชน และขับเคลื่อนให้เกิดการดำเนินนโยบายได้จริง เพื่อผลประโยชน์ของชาวเขตบางรัก
เบอร์ 3 : นายเอกรัฐ อิทธิไกวัล (พรรคก้าวไกล) จบปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรม มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี, ผู้จัดการฝ่ายการตลาด รพ.สหวิทยาการมะลิ, รองเลขาธิการ YMCA กรุงเทพฯ, ผู้อำนวยการ Scripture Union Thailand ชูสโลแกน “เพื่อประเทศไทยดีขึ้น กรุงเทพต้องพัฒนา บางรักอาสานำการเปลี่ยนแปลง”
เบอร์ 4 : นายพิพัฒน์ ลาภปรารถนา (กลุ่มรักษ์กรุงเทพ) อดีตประธานสภากรุงเทพมหานคร, อดีตนายกสมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศไทย และอดีตสมาชิกสภา กทม.เขตบางรัก 4 สมัย (พ.ศ. 2541, 2545, 2549, 2553) ชูนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชาวกรุงเทพฯ ปลูกต้นไม้ใต้ทางด่วน สายไฟฟ้าต้องลงใต้ดิน เพิ่มกล้อง CCTV น้ำต้องไม่ท่วม
เบอร์ 5 : นางนิรมล โตจิรกุล (พรรคพลังประชารัฐ) อดีต สข.เขตบางคอแหลม (พรรคประชาธิปัตย์) ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับอสังหาริมทรัพย์ ชูสโลแกน “ มุ่งมั่น พัฒนา เคียงข้าง ชาวบางรัก” # พลังกรุงเทพ # พลังประชารัฐ
เบอร์ 6 : นายสมศักดิ์ รัตนกังวานวงศ์ (พรรคไทยสร้างไทย) อดีตประธานสภาเขตบางรัก, ประธานชมรมรักษ์สิ่งแวดล้อมไทย เคยสร้างผลงานวิจัย ด้วยทุนจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) เรื่องการศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชน เพื่อการบริหารงานและพัฒนาชุมชนเมือง : กรณีศึกษา เขตบางรัก
เบอร์ 7 : นายธนากร ลิ้มวาทะรส (พรรคกล้า) ชูสโลแกน “ผูกพันใส่ใจ แก้ไขปากท้อง” ภายใต้นโยบาย 10 ข้อ อยู่บนแนวคิดยกระดับกรุงเทพฯ ให้เป็น "เมืองสู้วิกฤต มหานครแห่งโอกาส" เช่น การช่วยค่าครองชีพ รถไฟฟ้า 30 บาท รถเมล์ EV ทั้งระบบ , หมอ Delivery สู้วิกฤตโรคระบาด การรักษาเข้าถึงภายใน 24 ชั่วโมง ด้วยระบบออนไลน์ , น้ำท่วมระบายได้ใน 30 นาที
เบอร์ 8 : นายวิพุธ ศรีวะอุไร (พรรคเพื่อไทย) ชูสโลแกน “รุ่นใหม่ มุ่งมั่น พัฒนาบางรัก” อดีตนักบินการบินไทย จบปริญญาตรี สาขาการควบคุมการจราจรทางอากาศ เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง จากสถาบันการบินพลเรือน ชูนโยบาย 30 บาทถึงที่หมาย , 50 เขต 50 รพ., 437 สถานศึกษา พัฒนาสร้างรายได้, กองทุนพัฒนาชุมชน 200,000 บาท, 50 เขต 50 ซอฟต์พาวเวอร์
เบอร์ 9 : นางสาวอัญญวีณ์ กาญจนธนาเลิศ
สำหรับผู้ที่เป็น “ดาวเด่น” ในการเลือกตั้ง สก.เขตบางรักครั้งนี้ คือ นายพิพัฒน์ ลาภปรารถนา ผู้สมัครหมายเลข 4 จาก “กลุ่มรักษ์กรุงเทพ” หรือ “ทีมอัศวิน” อดีตประธานสภากรุงเทพมหานคร, อดีตสมาชิกสภา กทม.เขตบางรัก 4 สมัยซ้อน, ศิษย์เก่าดีเด่นโรงเรียนวัดสุทธิวราราม, อดีตนายกสมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศไทย, อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ, ปัจจุบันเป็นนายกสมาคมนักเรียนเก่าสุทธิวราราม โรงเรียนวัดสุทธิวราราม กรุงเทพฯ
จบการศึกษาปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ สาขาการบัญชี มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ปริญญาโท คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี
ช่วงที่เป็นประธานสภา กทม.นายพิพัฒน์ จะรับปัญหาและข้อร้องเรียนของพี่น้องประชาชน ไปประสานงานกับฝ่ายบริหาร กทม. เพื่อให้เข้าไปแก้ไขปัญหาต่างๆ ในพื้นที่เขตบางรัก หลายผลงาน เช่น การปรับปรุงท่อระบายน้ำ การปรับปรุงภูมิทัศน์ ถนน ผิวจราจร ทางเดินเท้าและตรอกซอกซอย
แม้ว่าจะพ้นวาระในการดำรงตำแหน่ง สก. ไปแล้ว นายพิพัฒน์ก็ยังคงทำหน้าที่ประสานงานกับชาวบางรัก เพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน แบบไม่เลือกที่รัก มักที่ชัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด ก็จะนำข้าวของที่จำเป็นต่อการดำรงชีพพร้อมหน้ากากอนามัย เข้าไปเยี่ยมเยือนและช่วยเหลือผู้ได้รับกระทบ หรือยากไร้ ตามชุนชนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง จึงทำให้มีฐานเสียงหนาแน่น มาจนถึงทุกวันนี้