นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดเผยว่า อคส.เน้นพันธกิจตามแนวทางรับใช้เกษตรกร ส่งเสริมการค้า ดูแลประชาชน ซึ่งเป็น organic growth ที่ถูกต้อง ยอมรับที่ผ่านมานโยบายรัฐโดยเฉพาะโครงการจำนำข้าว ส่งผลให้ อคส. ไม่ปรับตัวและเพิ่มศักยภาพขององค์กร ผลการดำเนินงานแม้มีกำไรมาก แต่อาจใช้นโยบายการรับรู้รายได้ที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากปัจจุบัน อคส. มีภาระค่าใช้จ่ายจากโครงการดังกล่าวที่ไม่สามารถเบิกจากงบประมาณได้ เช่น ค่าใช้จ่ายด้านพนักงานกว่า 100 ล้านบาทต่อปี และต้องสะสางงานโครงการจำนำข้าวตั้งแต่ปี 2544 ที่ปัจจุบันยังปิดบัญชีโครงการไม่แล้วเสร็จกว่า 34 โครงการ
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด อคส. ขานรับยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตของกระทรวงพาณิชย์ โดยสร้างยุทธศาสตร์ “แก้มลิง++” มาสนับสนุน ซึ่งจะใช้คลังสินค้าที่มีอยู่ 5 แห่ง เร่งขยายสาขาและพัฒนาต่อไป ทั้งนี้ จะใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วยในการเก็บรักษาให้สินค้าเกษตรปัจจุบัน อคส. ร่วมมือกับทาง สวทช. คิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น คลังสินค้าไร้อากาศ การทำ pallet โดยใช้กากมะพร้าว การใช้เครื่องคัดแยกชนิดและน้ำหนักสัตว์น้ำแทนแรงงานต่างด้าวโดยใช้ AI เป็นต้น รวมถึงจับมือสร้างเกษตรแปรรูปเพิ่มมูลค่า เช่น ชาวนาปลูกข้าวขายแป้ง ชาวสวนปลูกมะพร้าวขายกะทิ โดย อคส. ได้รับอนุเคราะห์พื้นที่จากธนารักษ์ จ.ลพบุรี 22 ไร่ สร้างคลังข้าว ลพบุรี ครบทั้งโรงอบ โรงสี โรงโม่แป้ง และสร้างการตลาดรองรับปัจจุบันมีกว่า 2,000 ตัน เมื่อสร้างเสร็จจะมีคำสั่งซื้อรองรับไม่ต่ำกว่า 50,000 ตันข้าวพื้นแข็งในลพบุรีและใกล้เคียงได้กว่า 150,000 ตันข้าวเปลือก พร้อมประสานทูตพาณิชย์ 58 ประเทศทั่วโลกและพาณิชย์จังหวัด 77 จังหวัด ผ่านร้านค้าส่งธงฟ้าทั่วประเทศ สร้างเครือข่ายการจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรแปรรูปทั้งในประเทศและต่างประเทศ
สำหรับคลังราษฎร์บูรณะ ซึ่งจะปั้นเป็นเรือธงของ อคส. เป็น “คลังห้องเย็นที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ” ด้วยศักยภาพรองรับมากกว่า 50,000 ตัน สามารถสร้างรายได้ให้ อคส. ไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาทเมื่อสร้างเต็มพื้นที่ ส่งผลให้ อคส. หลุดพ้นภาวะขาดทุนซ้ำซากอย่างถาวร ซึ่งปัจจุบันได้ยื่นอุทธรณ์ขอขยายใบอนุญาติต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว โดยหากได้รับการอนุญาต จะสร้างประโยชน์อย่างน้อย 3 ประการ คือ อคส. มีรายได้ที่มั่นคงไม่เป็นภาระงบประมาณ เกษตรกร มีห้องเย็นขนาดใหญ่ช่วยในการเก็บรักษาผลผลิตส่วนเกิน ลดแรงกระทบเรื่องผลผลิตราคาตกต่ำเนื่องจากปริมาณออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก และ รัฐบาลมีเครื่องมือที่จะช่วยสนับสนุนในกิจการต่างๆที่ใช้ห้องเย็น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร หรือ เวชภัณฑ์ เช่น วัคซีนป้องกันโรคระบาด เป็นต้น
นอกจากนี้ อคส. ยังเร่งฟื้นฟูและพัฒนาองค์กรให้กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นแนวหน้าของประเทศอีกครั้ง ผ่าน นโยบาย “ซ่อม สร้าง เพิ่ม สะสาง” โดยเตรียมปรับโครงสร้างองค์กร ระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาให้ดีขึ้น การจัดตั้งโรงเรียนกำเนิดคลังซึ่งจะสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพสอดรับกับพันธกิจ และขยายสาขาคลังสินค้า ไม่ว่าจะเป็น คลังแพะ กระบี่ คลังกระท่อม พัทลุง คลังสัตว์น้ำ ในหลายจังหวัดครอบคลุมถึงภาคอีสาน รวมถึง 3 จังหวัดชายแดนใต้ และอยู่ระหว่างเจรจาร่วมทุนสร้าง Cold chain ทั่วประเทศ รวมถึงการเจรจาสร้างคลังสินค้าร่วมทุนในประเทศเมียนมา และประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตาม อคส. ยังมีข้อจำกัดที่สำคัญ คือ งานสะสาง โดยเฉพาะโครงการจำนำข้าวที่ยังมีข้าวในคลังกว่า 200,000 ตัน ตั้งเป้าระบายให้หมดทุกเมล็ดภายในกันยายน 2565
ทั้งนี้ อคส. ได้ระบายข้าวโพดและมันสำปะหลัง โครงการปี 2551 เสร็จสิ้นเมื่อ กันยายน 2564 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีโครงการอีก กว่า 30 โครงการของรัฐ ที่ยังปิดบัญชีไม่เสร็จสิ้น รวมถึง การทุจริตถุงมือยางเทียม ซึ่งปัจจุบัน รอชี้มูลจาก ปปช. และ ปปง. ซึ่ง อคส. พร้อมนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไม่ต่ำกว่า 4 คดี ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งโดยกฎหมายความรับผิดทางละเมิด(คลัง) คดีอาญาทุจริต(ปปช.) คดีแพ่งและคดีอาญาฟอกเงิน(ปปง.) โดยดำเนินคดีตามกฎหมายให้ถึงที่สุดและไม่มียกเว้นตามบัญชาและการสนับสนุนของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะยึดถือปฎิบัติโดยเคร่งครัด
” หากดำเนินการได้ตามแนวทางที่วางไว้ ที่จะสามารถหาได้จากการลงทุนและขยายความร่วมมือใหม่ อีกทั้งปลดล็อกกฎระเบียบต่างๆได้ จะทำให้อคส. มีรายได้เพิ่มต่อเนื่อง ดูจากกิจการห้องเย็นขยายตัวได้ถึง 28% ก็จะทำให้อคส.พื้นตัวได้ในปี 2567 จากที่ติดลบมานานหลายปีจากปัญหาที่สะสมไว้ โดยเตรียมรวบรวมความคืบหน้าโครงการและเสนอยุทธศาสตร์ใหม่ต่อบอร์ดอคส.ใหม่ ในวันที่ 19 เมษายนนี้ ” นายเกรียงศักดิ์ กล่าว