นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย มีความสำคัญเป็นอย่างมากกับเศรษฐกิจและการจ้างงาน และถือเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ โดยไทยก็ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกเครื่องประดับรายใหญ่ของโลก อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาการส่งออกเครื่องประดับของไทยยังต้องเผชิญกับอุปสรรคในการที่ไทยยังขาดการรับรองตราสัญลักษณ์บนเครื่องประดับ(Hallmark)สำหรับการส่งออกและยังไม่มีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและตีตราสัญลักษณ์รับรองของเครื่องประดับ (Assay Office) อย่างเป็นทางการ ซึ่งอาจส่งผลการให้การส่งออกไปยังคู่ค้ารายใหญ่ของไทยอย่าง เช่น สหราชอาณาจักร เกิดความล่าช้า เนื่องจากผู้ส่งออกจะต้องผ่านกระบวนการตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าก่อนจึงจะสามารถนำเข้าไปยังสหราชอาณาจักรได้ซึ่งกระบวนการตรวจรับรองมาตรฐานนี้ต้องใช้ระยะเวลาเป็นเดือนเนื่องจากหน่วยงานตรวจรับรองฯ จะต้องรับรองมาตรฐานเครื่องประดับโลหะมีค่า (ทอง เงิน แพลทินัม) ทุกชิ้นที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศ ส่งผลให้ต้นทุนการส่งออกเพิ่มสูงขึ้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จึงได้มีการจัดทำและพัฒนามาตรฐานสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลตามมาตรการสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก โดยได้มีการดำเนินงานในกำหนดตราสัญลักษณ์กลางในการรับประกันคุณภาพสำหรับสินค้าในหมวดเครื่องประดับ อันจะเป็นการสร้างมาตรฐานการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญลำดับต้นๆ ของไทย โดยการส่งออกนั้นมีทั้งทางตรง คือ การผลิตชิ้นงานส่งออกเป็นสินค้าสู่ตลาดโลก และการส่งออกทางอ้อม โดยการจำหน่ายผ่านนักท่องเที่ยว (Cash and Carry) ซึ่งไม่ว่าการส่งออกจะเป็นในรูปแบบใดก็ตาม การมีมาตรฐานที่เป็นสากลสำหรับสินค้าในกลุ่มดังกล่าวนี้ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการซื้อขายได้เป็นอย่างมาก นอกจากนั้นแล้วยังเป็นการช่วยประหยัดต้นทุนของผู้ประกอบการไทยในการส่งสินค้าไปตรวจสอบยังต่างประเทศโดยสามารถตรวจรับรองค่าความบริสุทธิ์ของโลหะมีค่าได้ที่ไทยและมีการมีตราประทับ Hallmark ซึ่งกำหนดให้ตราสัญลักษณ์รับรองมาตรฐาน(Hallmark)ประกอบด้วยตราสัญลักษณ์รับรองมาตรฐาน 3 ตราประทับ คือ ตราหน่วยงานตรวจรับรองมาตรฐาน (Assay Office Mark) ตรารับรองความบริสุทธิ์ (Fineness Mark) และตราแสดงผู้รับผิดชอบ (Responsibility Mark) ซึ่งจะทำให้สามารถส่งเครื่องประดับไปยังประเทศที่บังคับใช้ Hallmark ได้สะดวก
o ตรารับรองมาตรฐาน ซึ่งประกอบด้วย ตราหน่วยงานตรวจรับรองมาตรฐาน (แสดงตัวอย่างแทนด้วย ตราประจำกระทรวงพาณิชย์)
o ตรารับรองความบริสุทธิ์ (โลหะหลักมีค่า) – ทองคำ ความบริสุทธิ์ 750
o ตราแสดงผู้รับผิดชอบ (ตราตัวอย่าง)
นอกจากนั้นแล้ว การมีตราประทับ Hallmark ก็มีความจำเป็นเช่นกัน ซึ่งนานาประเทศจะมีตราสัญลักษณ์ Hallmark ที่แตกต่างกันไป จะบ่งบอกถึง ตราประจำของหน่วยงานตรวจรับรองมาตรฐานเครื่องประดับโลหะมีค่า การตีตราประทับเป็นเครื่องหมายแสดงว่าเครื่องประดับโลหะมีค่าผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานในประเทศใด ตราสัญลักษณ์นี้ถือเป็นหนึ่งในตราที่มีความสำคัญมากที่สุดในกลุ่มตรารับรองมาตรฐานเครื่องประดับโลหะมีค่า เนื่องจากหน่วยงานที่จะลงตราประทับนี้ได้ต้องเป็นหน่วยงานกลางที่ได้รับมอบหมายจากภาครัฐของประเทศนั้นๆ ให้ทำหน้าที่ตรวจรับรองมาตรฐานเครื่องประดับโลหะมีค่าทั้งหมดภายในประเทศ