ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ปัจจัยในการชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 4-8 เมษายน 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,325 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับปัจจัยในการชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนถึงสถานการณ์การเมืองระดับชาติกับการส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ กทม.พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 31.25 ระบุว่า ส่งผลต่อการตัดสินใจอย่างมาก รองลงมา ร้อยละ 30.41 ระบุว่า ไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลย ร้อยละ 24.38 ระบุว่า ค่อนข้างส่งผลต่อการตัดสินใจ และร้อยละ 13.96 ระบุว่า ไม่ค่อยส่งผลต่อการตัดสินใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนถึงปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 44.75 ระบุว่า นโยบายของผู้สมัคร รองลงมา ร้อยละ 28.91 ระบุว่า คุณสมบัติ/ชื่อเสียงส่วนตัวของผู้สมัคร ร้อยละ 9.36 ระบุว่า ฐานเสียงจัดตั้งของผู้สมัคร ร้อยละ 6.19 ระบุว่า อิทธิพลของบุคคล/กลุ่มบุคคลที่สนับสนุนผู้สมัคร ร้อยละ 6.04 ระบุว่า กลยุทธ์/แนวทางการหาเสียงของผู้สมัคร ร้อยละ 4.00 ระบุว่า การสนับสนุนของสื่อมวลชนที่มีต่อผู้สมัคร และร้อยละ 0.75 ระบุว่า งบประมาณในการหาเสียงของผู้สมัคร