นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายในการดูแลเกษตรกรให้มีรายได้และมีความเป็นอยู่ที่ดีโดยการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพสินค้าสู่มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศ การทำเกษตรอินทรีย์เป็นอีกโครงการหนึ่งที่กระทรวงพาณิชย์ส่งเสริม เชื่อมโยงตลาด พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น
จังหวัดเพชรบูรณ์เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มุ่งมั่นส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้รวมกลุ่มกันปลูกพืชผักอินทรีย์เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคโดยมีการสร้างเครือข่ายผู้ผลิต-ผู้จำหน่ายสินค้าปลอดภัย ภายใต้แผนงานโครงการกรีนมาร์เก็ต เพชรบูรณ์ โดยเน้นความสมัครใจและบูรณาการการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ได้แก่ เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจ สหกรณ์การเกษตร ผู้ประกอบการภาคเอกชน องค์กรเอกชน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป จากการพึ่งพาสารเคมีที่เป็นภัยต่อสุขภาพ ปรับสู่วิถีการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย พัฒนาสู่สินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยมีเครือข่ายทั้งเชิงกลุ่ม และเชิงเดี่ยว สมัครเข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มจำนวนจาก 30 กลุ่ม ในปี 2558 เพิ่มเป็นจำนวน 93 กลุ่มในปัจจุบัน รวมจำนวนสมาชิกกว่า 1,000 ราย ในพื้นที่ 11 อำเภอของจังหวัดเพชรบูรณ์ ครอบคลุมสินค้าทั้งกลุ่มสินค้าพืชผักผลไม้ เกษตรแปรรูป ปศุสัตว์ ประมง และยังขยายเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง โดยมีภาคเอกชนรายใหญ่หลายราย นำสินค้าตามโครงการเข้าจำหน่ายในช่องทางธุรกิจปกติ สร้างความมั่นใจ และปลอดภัยสู่ผู้บริโภค ส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้าเกษตรของจังหวัดเพชรบูรณ์ สินค้าเกษตรไทย รวมทั้งเป็นการเสริมส่งการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่งด้วย โครงการกรีนมาร์เก็ตฯ บริหารงานในรูปแบบคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วย 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน เพื่อผสมผสานจุดเด่น/ข้อดีของแต่ละภาคส่วน คือ ความยืดหยุ่นคล่องตัวของภาคเอกชน การรักษาประโยชน์ส่วนรวมของภาครัฐ และการลงมือดำเนินการของภาคประชาชน เน้นไปที่การส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นสหกรณ์ โดยคณะกรรมการอำนวยการโครงการฯ จะทำหน้าที่ในการประสานงานกับตลาด เพื่อสอบถามความต้องการของตลาด แนะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการปรับปรุงกิจการของสหกรณ์เพื่อเพาะปลูกและผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อ ซึ่งผักอินทรีย์ (ORGANIC) สามารถจำหน่ายได้ราคาสูงกว่าราคาผักชนิดเดียวกันในท้องตลาดกว่าหนึ่งเท่าตัว
ปัจจุบันพืชผักอินทรีย์ภายใต้แบรนด์ กรีนมาร์เก็ต เพชรบูรณ์ จำหน่ายให้ห้างท็อปซุปเปอร์มาร์เก็ต และบริษัทในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป ในเครือเดอะมอลล์ และจำหน่ายให้กับผู้บริโภคทั่วไปมูลค่าการซื้อขายมีประมาณเดือนละ 8 ล้านบาท ส่งผลให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ มีรายได้เพิ่มขึ้น
“โอกาสของสินค้าเกษตรอินทรีย์ยังมีอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศเนื่องจากผู้บริโภคในปัจจุบันใส่ใจในการดูแลรักษาสุขภาพโครงการกรีนมาเก็ตของจังหวัดเพชรบูรณ์ นับเป็นต้นแบบที่จังหวัดอื่นๆ สามารถนำไปปรับใช้ในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะพิจารณาต่อยอดโดยคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ “พัฒนาเกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์สู่สากล” ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วง เดือนพฤษภาคม .-มิถุนายน 2560 นี้ด้วย” นางอภิรดี กล่าว