นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า ขอบคุณที่ภาครัฐรับฟังเสียงผู้ประกอบการและประชาชนในการยกเลิกมาตรการเข้าประเทศในรูปแบบ Test & Go ที่ต้องตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี RT-PCR กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศ เหลือเพียงการตรวจด้วย ATK ซึ่งจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.นี้ โดยเชื่อว่าการผ่อนคลายนี้จะช่วยดึงบรรยากาศการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักได้ ภาคการค้าและบริการจะได้กลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
"ภาคเอกชนจะช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการช่วยทำตามมาตรการต่างๆ ที่ช่วยดูแลและป้องกันการระบาดเพิ่ม รวมถึงรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย เพื่อให้เป็นการสนับสนุนการประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นในระยะต่อไป"
สำหรับประเด็นกระตุ้นเศรษฐกิจจากที่ได้เสนอมาตรการคนละครึ่งเฟส 5 ไปนั้น เนื่องจากทางหอการค้าไทย มองว่าแม้ประชาชนจะเริ่มมีการจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น แต่ยังต่ำกว่าสถานการณ์ตามปกติ ดังนั้น จึงควรเร่งกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างโมเมนตัมทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น
ทั้งนี้ จากการคำนวณคนละครึ่งเฟส 5 รอบนี้ หากให้วงเงินใช้จ่ายคนละ 1,500 บาทอีกรอบ รัฐบาลจะใช้งบประมาณ 45,000 ล้านบาท (30 ล้านคน) ซึ่งส่วนนี้ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยมีเม็ดเงินเข้าระบบ 90,000 ล้านบาท เมื่อคำนวณแล้วจะช่วยทำให้ GDP ดีขึ้นได้ถึง 0.63-0.65% ในปีนี้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของ GDP ประเทศไทยให้ขยายตัวได้เกิน 3% แน่นอน
"หอการค้าฯเข้าใจดีว่า ภาครัฐเองต้องพยายามรักษาวินัยทางการเงินการคลัง เพราะที่ผ่านมามีการใช้เงินในมาตรการต่างๆไปมากพอสมควร แต่หากมีการกระตุ้นต่อเนื่องไปอีกสักระยะ จะสร้างผลลัพธ์ที่ดีกว่า เพราะนอกจากจะช่วยให้มีเม็ดเงินเติมเข้าไปในระบบเศรษฐกิจแล้ว ยังช่วยประคองให้ภาคธุรกิจรายย่อยอยู่ได้ รวมถึงประคองการจ้างงานให้ยังอยู่ต่อไป นอกจากนั้น ต้องไม่ลืมว่าในเดือนหน้า (พ.ค.) ยังมีความท้าทายอีกหลายอย่างที่รออยู่ โดยเฉพาะเรื่องราคาน้ำมันดีเซล ที่จะกระตุกให้เศรษฐกิจของประเทศชะงักลงไปอีก"
สำหรับมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 3 บาท/ลิตร ที่จะสิ้นสุดลงในเดือนพ.ค.นั้น หากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศสูงขึ้นเป็น 35-36 บาทต่อลิตรได้ ซึ่งจากการวิเคราะห์ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าหากนำมันดีเซลขยับราคาขึ้น 10% ธุรกิจจะยังสามารถประคองธุรกิจ ตรึงราคาต่อไปได้อีกประมาณ 3 เดือน และเมื่อราคาขยับเข้าใกล้ลิตรละ 35 บาท อาจจะเริ่มเตรียมตัวปรับขึ้นราคาสินค้า ดังนั้นภาครัฐต้องเร่งออกมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวสำหรับการรับมือต่อสถานการณ์ในครั้งนี้ เพื่อชะลอและลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รวมถึงที่สำคัญจะต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมด้วย
โดยที่ผ่านมา หอการค้าฯ พยายามผลักดันให้มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีในการจับจ่ายใช้สอย และเกิดการท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งกำลังเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น จึงจำเป็นต้องสร้างแรงเหวี่ยงทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง หากเราไม่สามารถหลุดพ้นจากจุดนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจคงเกิดได้ยาก ดังนั้นหอการค้าฯ ยังคงยืนยันว่า ภาครัฐต้องทบทวนการนำโครงการคนละครึ่งเฟส 5 มาใช้ เพราะถือว่าเป็นมาตรการที่จำเป็นในสถานการณ์ที่ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติเช่นนี้ นอกจากนี้มาตรการเราเที่ยวด้วยกันที่สิทธิ์หมดไปแล้ว ก็น่าจะนำมาช่วยภาคท่องเที่ยวและบริการต่อด้วย