กรุงเทพมหานครเปิดตัวโครงการ“The First Bangkok Zero Waste Park”ณ อุทยานเบญจสิริ ต้นแบบสวนสาธารณะบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน แห่งแรกในประเทศไทย มุ่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคัดแยกขยะในพื้นที่สาธารณะ ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของความพยายามในการลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทาง ด้วยถังขยะแบบใหม่ พร้อมพัฒนานวัตกรรมการจัดการขยะ นำกลับมาเป็นทรัพยากรให้เกิดประโยชน์อย่างครบวงจร เพื่อให้เหลือขยะนำไปกำจัดน้อยที่สุด
นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เพื่อให้การจัดการขยะมีความยั่งยืน สามารถลดปริมาณขยะที่นำไปกำจัดในขั้นตอนสุดท้ายให้เหลือน้อยที่สุด จึงพยายามผลักดันและส่งเสริมบทบาทของทุกภาคส่วน ให้ตระหนักรู้ เห็นคุณค่าและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการลดและคัดแยกขยะที่ต้นทาง เพื่อนำขยะกลับมาใช้เป็นทรัพยากรหมุนเวียนให้ได้มากที่สุด เพราะปัจจุบันจากการขยายตัวของชุมชนเมืองและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของประชาชนได้ส่งผลให้อัตราการบริโภคของประชาชนภายในกรุงเทพมหานครเพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา มีปริมาณขยะมูลฝอยในกรุงเทพมหานครสูงถึง 8,675 ตันต่อวัน มีค่าใช้จ่ายในการกำจัด 7,127 ล้านบาท แต่จัดเก็บค่าธรรมเนียมการกำจัดขยะได้เพียง 512 ล้านบาท ซึ่งจำนวนขยะมูลฝอยยังคงมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาเหล่านี้
จึงได้มีการกำหนดแนวทางจัดการขยะในแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร 20 ปี พ.ศ. 2556-2575 โดยมีวิสัยทัศน์ “มุ่งเน้นจัดการขยะที่แหล่งกำเนิด โดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมตามแนวคิดของเสียเหลือศูนย์ (Zero Waste Management)” สร้างความตระหนักรู้ในการจัดการขยะมูลฝอยที่ต้นทาง ตามหลัก 3R คือ Reduce, Reuse and Recycle และทำให้มูลฝอยเหลือน้อยที่สุดและกำจัดที่เหลือ (Residue) ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิผล และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการจัดการขยะที่ต้นทาง โครงการ “Bangkok Zero Waste Park” เป็นโครงการที่ดำเนินการเพื่อส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการคัดแยกขยะในพื้นที่สาธารณะ โดยดำเนินการนำร่องในพื้นที่อุทยานเบญจสิริ เขตคลองเตย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร และเครือข่ายภาคเอกชนในการผลักดันและสนับสนุนโครงการ ประกอบด้วย เดอะมอลล์ กรุ๊ป ที่มีวิสัยทัศน์ในการร่วมมืออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด อีกทั้งมีพื้นที่ใกล้เคียงที่สำคัญอุทยานเบญจสิริ อย่างศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม (The Emporium) และศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ (The EmQuartier) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สำคัญในการพัฒนานำร่องโครงการนี้
“ซึ่งถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของความพยายามในการลดปริมาณขยะ การแยกขยะเพื่อใช้ประโยชน์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy ซึ่งกรุงเทพมหานครได้เลือกพื้นที่อุทยานเบญจสิริเป็นพื้นที่นำร่อง เนื่องจากเป็นสวนสาธารณะที่ผ่านเกณฑ์การประเมินสำนักงานสีเขียว (Green Office) ปี 2563ในระดับดี เป็นสวนที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง มีผู้มาใช้สวนจำนวนมาก มีผู้ประกอบการห้างร้านที่มีศักยภาพในการสนับสนุนโครงการอยู่บริเวณโดยรอบ ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการดำเนินการจัดการขยะในพื้นที่อุทยานเบญจสิริ จะบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ กลายเป็น First Bangkok Zero Waste Park สวนสาธารณะต้นแบบในวันนี้”
สำหรับถังขยะต้นแบบที่ใช้ในอุทยานเบญจสิริแห่งนี้ได้รับความร่วมมือจาก บริษัท แทคท์ โซเชียล คอนซัลติ้ง จำกัด ออกแบบในรูปแบบใหม่ เพื่อให้ผู้ใช้บริการเกิดการฉุกคิดและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการคัดแยกและทิ้งขยะให้ถูกต้อง โดยการทิ้งขยะผ่านถัง “เท ทิ้ง เท ทิ้ง” ภายใต้แนวคิด “แยกง่าย มีทางไป และ ได้ผลลัพธ์” โดยถังขยะแบบใหม่นี้จะตั้งภายในพื้นที่อุทยานเบญจสิริทั้งหมดจำนวน 8 จุด พร้อมกับติดตั้งป้ายให้ความรู้การจัดการขยะและป้ายแสดงปริมาณขยะที่คัดแยกได้ให้เห็นชัดเจน
นอกจากนั้นยังสามารถเรียนรู้เส้นทางการจัดการขยะภายในสวนสาธารณะจากต้นทางถึงปลายทางได้อย่างชัดเจน โดยจัดสร้างศูนย์เรียนรู้ขึ้นภายในอุทยานเบญจสิริ เพื่อสาธิตการนำขยะที่คัดแยกแต่ละประเภทไปใช้ประโยชน์ได้จริง เช่น การนำขยะอินทรีย์ไปทำปุ๋ยหมัก นำไปใช้กับแปลงปลูกและแปลงสาธิตภายในสวน ซึ่งจะเป็นการหมุนเวียนขยะไปใช้ประโยซน์ที่เห็นผลและใช้ได้จริง โดยแบ่งพื้นที่เป็น 5 โซน
1.โซนนิทรรศการและกิจกรรม จัดแสดงความเป็นมาของโครงการ วิธีการคัดแยกของขยะแต่ละประเภท รวมถึงแนะนำวิธีการใช้ และการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มไลน์ Line OA : Envi Hero 2.โซน Recycle สำหรับชั่งน้ำหนักและรวบรวมขยะรีไซเคิลเพื่อเตรียมส่งต่อ 3.โซน Organic สำหรับตั้งเครื่องทำปุ๋ยชีวภาพจากเศษอาหาร เป็นการจัดการขยะอินทรีย์ จัดแสดง วิธีการแปรรูป ขยะอินทรีย์รูปแบบต่างๆ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ อาทิ การนำเศษอาหารมาทำปุ๋ยสำหรับปลูกพืชผักสวนครัวและใส่ต้นไม้ การทำน้ำหมักชีวภาพ รวมไปถึงการนำใบไม้แห้งซึ่งเป็นขยะอินทรีย์ที่มีจำนวนมากในสวนสาธารณะมาใช้ประโยชน์ เป็นต้น 4. โซน General Waste สำหรับเก็บอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ และเก็บรวบรวมขยะมูลฝอยทั่วไปก่อนส่งไปกำจัด และ 5. โซนแปลงปลูกผัก โดยผู้ใช้บริการสวนสาธารณะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมทำกิจกรรม ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนให้เกิดพฤติกรรมการคัดแยกขยะภายในพื้นที่สวนสาธารณะเป็นประจำทุกเดือน เช่น การนำขยะเศษอาหารมาแลกต้นไม้หรือปุ๋ยภายในศูนย์การเรียนรู้ เป็นต้น เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจและส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้ประชาชนเห็นความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมภายในพื้นที่สวนสาธารณะตั้งแต่ต้นทางได้อย่างถูกต้อง
อักทั้งยังได้รับความร่วมมือจากโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน พื้นที่นำร่อง เขตคลองเตย ระยะที่ 2 เข้าร่วมเสริมสร้างความเข้มแข็งและขยายผลการดำเนินการพัฒนาระบบการจัดการขยะอย่างครบวงจรให้ยั่งยืน รวมถึงกรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม จะมีการขยายผลโครงการไปในสวนสาธารณะและพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป