กลุ่มนักกิจกรรมและนิสิตนักศึกษานำโดย น.ส.ณัฎฐา มหัทธนา และนายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ จำนวนประมาณ 20 คน เดินทางมายังห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เพื่อมาทำเรื่องขอดูกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) จากกรณีการเปลี่ยนหมุดคณะราษฎร บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ในพื้นที่เขตดุสิต ภายหลังได้เดินทางไปยัง สน.ดุสิต เพื่อเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมีนายยุทธพันธ์ุ มีชัย เลขานุการผู้ว่าฯกทม. เข้ารับเรื่องดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางตัวแทนและเลขานุการผู้ว่าฯกทม.ได้เจรจาร่วมกันถึงแนวทางการขอยื่นเรื่องขอดูกล้องซีซีทีวีเป็นเวลาประมาณ 30 นาทีก่อนร่วมกันแถลงข่าว สำหรับบรรยากาศภายในห้องเจ้าพระยามีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารร่วมสังเกตการณ์จำนวนหนึ่ง และมีสื่อมวลชนเข้าร่วมงานแถลงข่าวเป็นจำนวนมาก ระหว่างการพูดคุยกันมีประชาชนได้ตะโกนอยู่เป็นระยะว่า “กล้อง กทม.มีไว้โชว์ไม่ได้มีไว้ใช้งาน”
ต่อมาเวลา 11.10 น. ทางกลุ่มฯและ กทม.ได้ร่วมกันแถลงข่าว โดยนายยุทธพันธ์ุแถลงว่า ในวันนี้ได้มารับเรื่องจากผู้แทนประชาชน เพื่อขอความร่วมมือจาก กทม.ในการเปิดเผยกล้องวงจรผิดที่อยู่โดยรอบของลานพระบรมรูปทรงม้า เนื่องจากทางกลุ่มได้ไปแจ้งความเอาไว้ที่ สน.ดุสิต ในฐานะผู้เสียหาย ซึ่งในฐานะ กทม.ไม่ขัดข้องในเรื่องของการเปิดเผยกล้องซีซีทีวี เนื่องจากทาง กทม.ได้มีกฎเกณฑ์ กติกาเอาไว้ชัดเจนว่าในกรณีที่มีการแจ้งความและมีผู้มีส่วนเสียในทางคดี ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายโจทก์หรือจำเลย โดยความเห็นชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถนำเอกสารหรือหลักฐานเพื่อมาขอดูกล้องเพื่อประกอบในการดำเนินการต่อไป หรือในกรณีที่พนักงานสอบสวนได้มาขอความร่วมมือก็เป็นวิธีการปฏิบัติเฉกเช่นเดียวกันกับบุคคลทั่วไป
“ในวันนี้ทางกลุ่มได้มายื่นหนังสือเพื่อขอดูกล้องซีซีทีวีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขาดเพียงแต่เอกสารสำคัญที่จะประกอบการพิจารณาคือบันทึกแจ้งความซึ่งจะนำมายื่นในภายหลัง ทั้งนี้ ผมก็ได้มารับเรื่องด้วยตัวเอง และทาง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.ก็จะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ทาง กทม.ได้วางแนวทางไว้ในกรณีนี้ไม่แตกต่างกับพี่น้องประชาชนทั่วไป” นายยุทธพันธ์ุกล่าว
ขณะที่นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอบคุณทาง กทม.ที่ได้อำนวยความสะดวกในวันนี้เป็นอย่างดี วันนี้ทางกลุ่มได้เดินทางมาขอดูภาพกล้องซีซีทีวีบริเวณโดยรอบที่หมุดคณะราษฎรหาย แต่ปัญหาก็คือว่ากล้องที่ทางกลุ่มได้ตั้งข้อสังเกตว่า หมุดได้หายไปในระหว่างวันที่ 2-8 เมษายน แต่ภายหลังการร่วมพูดคุยกันระหว่าง กทม.ก่อนหน้าที่ ทางกทม.แจ้งว่า เมื่อวันที่ 31 มีนาคม มีการปรับปรุงสัญญาณไฟจราจรบริเวณโดยรอบ ซึ่งกล้องจะผูกติดกับสัญญาณไฟจราจร และไม่สามารถใช้การได้ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ ในวันนี้ทาง กทม.ได้นำภาพจากกล้องซีซีทีวีให้กับกลุ่มตัวแทน โดยบอกว่าเป็นภาพจากกล้อง 11 ตัวของวันที่ 31 มีนาคมที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงซึ่งเห็นชัดเจนว่าจะเห็นบริเวณหมุดที่คณะราษฎรหาย แต่จนถึงวันนี้ก็ไม่สามารถใช้งานได้
“อย่างไรก็ตาม แม้กล้องจำนวนนั้นจะอยู่ระหว่างการปรับปรุง แต่ทางเราก็ได้ขอทำเรื่องขอดูกล้องบริเวณใกล้เคียงเพิ่มเติม นอกเหนือจากกล้องจำนวน 11 ตัวนี้ อาจจะเป็นมุมที่ไกลขึ้นเพื่อเอามาประกอบกับการแจ้งความ” นายอภิสิทธิ์กล่าว
ส่วน น.ส.ณัฎฐากล่าวว่า สิ่งที่อยากฝากสื่อมวลชนติดตามต่อไปคือ การนำกล้องที่ติดอยู่กับสัญญาณไฟจราจรออกไปทั้ง 11 ตัว ทาง กทม.แจ้งว่าไม่ใช่อำนาจของ กทม.แต่เป็นงานของจราจร ก็คงต้องสอบถามกันต่อไปว่าใครเป็นคนตัดสินใจให้นำกล้องซีซีทีวีออกไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ เมื่อบริเวณนั้นไม่มีกล้องวงจรปิดแล้วมีการประสานงานร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงโดยรอบอย่างไร มีการยกระดับรักษาความปลอดภัยหรือไม่เมื่อไม่มีกล้องทั้ง 11 ตัวแล้ว
เมื่อถามว่ากล้องซีซีทีวีจำนวน 11 ตัวเป็นของ กทม.หรือไม่ นายยุทธพันธุ์ กล่าวว่า เป็นกล้องของ กทม. โดยสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) แต่ได้รับการประสานงานจากงานจราจรว่าจะมีการปรับปรุงจึงถอดกล้องไปเพื่อดำเนินการ เนื่องจากเป็นเสาที่ใช้พ่วงกัน ทั้งนี้ ส่วนเรื่องรายละเอียดต่างๆ จะเป็นหน้าที่ของ สจส.ที่จะเป็นผู้ตอบคำถามทั้งหมด
เมื่อถามอีกว่าความจริงการเอากล้องออกในช่วงเทศกาลสำคัญ ทางกทม.ได้มีการนำกล้องสำรองมาติดตั้งด้วยหรือไม่ หรือมีการเร่งการปรับปรุงกล้องหรือไม่ นายยุทธพันธุ์กล่าวว่า อยู่ที่ขั้นตอนกระบวนการของงานจราจรเป็นผู้ดำเนินการ ขณะที่ น.ส.ณัฎฐากล่าวว่า รู้สึกตกใจมาก แต่อย่างที่เราพูดคุยกันก่อนหน้านี้ เข้าใจได้ว่าถึงแม้จะมีกล้องวงจรปิดแต่ก็มีเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจเข้ามารักษาความปลอดภัยมากกว่าบริเวณอื่นอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นพื้นที่พิเศษ แม้จะไม่มีพยานที่เป็นกล้องต้องมีพยานบุคคลแน่นอน