น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.57 จนถึงปัจจุบัน กระทรวงฯ ได้ระบายข้าวในสต็อกของรัฐไปแล้วกว่า 5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 52,300 ล้านบาท และจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว(นบข.) เมื่อวันที่ 26 ต.ค.58ที่ผ่านมาได้กำหนดนโยบายชัดเจนว่าจะชะลอการระบายข้าวในสต็อกของรัฐที่มีคุณภาพมาตรฐานและใกล้เคียงมาตรฐานเพื่อการบริโภคในช่วงต้นฤดูที่ข้าวนาปี ปีการผลิต 2558/59 กำลังออกสู่ตลาด(พ.ย.58-ก.พ.59) เพื่อมิให้เกิดอุปทานส่วนเกินมากดทับตลาดซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อราคาข้าวที่เกษตรกรจะได้รับ โดยรัฐจำเป็นต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาข้าวในช่วงเวลาดังกล่าวไว้ก่อน และจะไม่นำข้าวเพื่อการบริโภคออกมาประมูลจนกว่าจะพ้นช่วงฤดูข้าวใหม่ เพื่อให้กลไกตลาดและมาตรการสนับสนุนต่างๆ ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ในการช่วยผลักดันราคาข้าวเปลือกในประเทศให้มีเสถียรภาพ
ขณะเดียวกันระหว่างนี้ให้นำข้าวที่ต่ำกว่ามาตรฐานมาก ได้แก่ ข้าวเกรด C ข้าวเสีย และข้าวผิดชนิดมาระบายสู่อุตสาหกรรมแทน จนกว่าจะพ้นช่วงของข้าวฤดูกาลใหม่ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐ ภายใต้การกำกับดูแลที่รัดกุม เพื่อตัดข้าวกลุ่มนี้ออกจากวงจรข้าวปกติ ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวบริโภค รวมทั้งตลาดจะนำมาเป็นข้ออ้างในการกดราคาข้าวฤดูใหม่ไม่ได้
น.ส.ชุติมา กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้ กรมการค้าต่างประเทศจะออกประกาศหลักเกณฑ์ (ทีโออาร์) การจำหน่ายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลในส่วนของข้าวเสีย โดยเบื้องต้น จะเปิดประมูลล็อตเล็กๆ โกดังละประมาณ 1,000-6,000 ตัน รวมไม่เกิน 10,000 ตัน ซึ่งเป็นโกดังในจังหวัดต่างๆ เช่น นครสวรรค์ สุรินทร์ นครราชสีมา นครปฐม กำแพงเพชร และชลบุรี และหลังจากประกาศทีโออาร์แล้ว จะเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้าไปตรวจสอบคุณภาพข้าว และยื่นซองเสนอราคาประมูลภายในเดือนพ.ย.นี้
“การเปิดประมูลข้าวเสียในครั้งนี้ เพื่อทดลองตลาด โดยจะไม่กระทบกับราคาข้าวในประเทศ เพราะเป็นข้าวเสีย ไม่เกี่ยวข้องกับข้าวในตลาดที่กำลังออกขณะนี้ แล้วที่ใครว่าจะมีผลทางจิตวิทยาทำให้ราคาข้าวตก ขอบอกไม่เกี่ยวกันเลย อย่าเข้าใจผิด เพราะเป็นการประมูลข้าวเสีย ต้องส่งเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น มีระบบการตรวจสอบติดตามชัดเจน มั่นใจว่าจะไม่มีหลุดรอดเข้าสู่ตลาดบริโภคปกติแน่นอน"
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การบริหารจัดการข้าวในสต็อกที่มีปริมาณมากถึง 18 ล้านตันเศษ ซึ่งเป็นข้าวที่เสื่อมคุณภาพไปแล้วกว่าครึ่งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ผ่านมาได้พยายามดำเนินการความรอบคอบ รัดกุม โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยคำนึงถึงการรักษาผลประโยชน์สูงสุดของภาครัฐเป็นสำคัญ ภายใต้ปัญหาความยุ่งยากและอุปสรรคมากมาย การดำเนินการบางกรณีต้องใช้ความกล้าในการตัดสินใจเนื่องจากหมิ่นเหม่ต่อการถูกกล่าวหาได้ง่าย รวมทั้งยังต้องดำเนินการกับผู้รับผิดชอบเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐในอีกหลายกรณี ส่งผลให้ผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ที่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการและคณะทำงาน รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานมีความกังวลด้วยเกรงปัญหาที่จะตามมาภายหลัง