การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดปฏิบัติการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และสร้างความปลอดภัยทางทะเล เขตท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เพิ่มศักยภาพในการกำกับ ควบคุม ดูแล คุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย รวมถึงตอบโต้กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เพิ่มความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการในการใช้บริการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เผยใช้เรือช่วยชุมชนเก็บขยะในทะเล-ขจัดคราบ-ดับเพลิง เมื่อได้รับการร้องขอ ย้ำการสนับสนุนชุมชนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นหนึ่งในภารกิจหลักของ กนอ.
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.กำหนดวิสัยทัศน์ในการเป็น “ผู้นำการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมครบวงจรระดับภูมิภาค ด้วยนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน” โดยมีเป้าหมายหลักคือ การเป็นผู้นำการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมครบวงจรระดับภูมิภาคด้วยนวัตกรรม มุ่งเน้นพัฒนาและให้บริการสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบวงจรตามความจำเป็น และความต้องการของผู้ประกอบการภายในนิคมฯ ซึ่งปัจจุบัน กนอ.มุ่งยกระดับนิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ กำกับดูแลจัดการสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม/ท่าเรืออุตสาหกรรมให้อยู่ในมาตรฐานที่ไม่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ อุบัติภัยร้ายแรงส่งผลกระทบต่อสังคมชุมชน ดังนั้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการกำกับ ควบคุม ดูแล คุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย รวมถึงการตอบโต้กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ตามแนวเส้นทางสัญจรของเรือสินค้า เรือทั่วไป เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับผู้ประกอบการ ในการใช้บริการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ตลอดจนสนับสนุนกิจกรรมการอนุรักษ์และรักษาสภาพแวดล้อมภายในบริเวณเขตท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ให้สอดคล้องกับประกาศกรมเจ้าท่า ที่ 134/2564 เรื่อง มาตรการความปลอดภัย การป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำ เนื่องจากน้ำมัน เคมีภัณฑ์ และสารที่เป็นอันตรายประจำท่าเรือ กนอ. โดยสำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด (สทร.) จึงจัดหาผู้มีประสบการณ์และความชำนาญ รวมถึงมีความพร้อมด้านอุปกรณ์และบุคลากร เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการเก็บขยะ คราบน้ำมัน และดับเพลิงในเขตท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งได้ว่าจ้าง บริษัท เอ. แอนด์ มารีน (ไทย) จำกัด เป็นผู้ดำเนินงาน มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2565-2569 โดยจะเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565 ซึ่งบริษัทฯ ใช้เรือเก็บขยะ ขจัดคราบน้ำมัน และดับเพลิง จำนวน 2 ลำ ได้แก่ เรือรักษ์นที 01 และ เรือรักษ์นที 02 พร้อมอุปกรณ์สำหรับดำเนินโครงการ
“ผมเชื่อมั่นว่า ปฏิบัติการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และสร้างความปลอดภัยทางทะเล เขตท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ และทุกภาคส่วน ในการเข้าใช้บริการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด รวมถึงเพิ่มศักยภาพการควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และความพร้อมตอบโต้กรณีเกิดภาวะฉุกเฉินในเขตท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด และชุมชนใกล้เคียงได้ ซึ่งเรือทั้ง 2 ลำจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินภารกิจให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป นอกจากนี้ ผมยังได้พูดคุยกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดระยองด้วยว่า จะใช้เรือทั้ง 2 ลำช่วยชุมชนในการเก็บขยะในทะเล การขจัดคราบต่างๆ รวมถึงการดับเพลิง เมื่อได้รับการร้องขอด้วย เพราะการสนับสนุนชุมชนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้น เป็นหนึ่งในภารกิจหลักของ กนอ.” นายวีริศ กล่าว
ด้านนายพรเทพ ภูริพัฒน์ รองผู้ว่าการฯ ปฏิบัติการ 3 กนอ. ในฐานะผู้กำกับดูแล สทร. กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน สทร. มีจำนวนผู้ประกอบการท่าเรือ 12 ราย มีจำนวนท่าเทียบเรือ 33 ท่า โดยมีท่าเทียบเรือที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ สทร. 4 ท่า ได้แก่ ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด (Maptaphut Industrial Terminal : MIT 1-4) ทั้งนี้ ลักษณะทางกายภาพของท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นอ่าวเปิด มีช่องทางเข้า-ออก ประกอบกับที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่รับกับแนวลมมรสุมของประเทศ กระแสน้ำในพื้นที่มีการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงเกิดการพัดพาขยะจากนอกพื้นที่ทั้งขยะมูลฝอย ขยะพลาสติก เข้ามาสะสมอยู่บริเวณตอนในพื้นที่รับผิดชอบของ สทร. มากกว่า 600 กิโลกรัมต่อเดือน และมีคราบน้ำมันที่ไม่ทราบจากแหล่งที่มาในบางครั้ง รวมถึงเศษเชือก เศษไม้ ถูกพัดพาเข้ามาในพื้นที่ของท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด
ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ด้านคุณภาพน้ำทะเล อีกทั้งยังอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อการเดินเรือได้ ดังนั้น การจัดหาผู้เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์และความพร้อมเข้ามาดำเนินการจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับเรือเก็บขยะ ขจัดคราบน้ำมัน และดับเพลิง จำนวน 2 ลำ ภายใต้“ปฏิบัติการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และสร้างความปลอดภัยทางทะเล เขตท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด” ได้แก่ เรือรักษ์นที 01 และ เรือรักษ์นที 02 มีคุณลักษณะที่สำคัญประกอบด้วย 1) เรือรักษ์นที 01 และ เรือรักษ์นที 02 เป็นเรือเก็บขยะ ขจัดคราบน้ำมัน และดับเพลิง ทำความสะอาดพื้นผิวน้ำปฏิบัติงานในอ่าว ทะเลสาบ และลำคลอง เหมาะสมสำหรับท่าเรือต่างๆ มีคุณสมบัติพิเศษคือ มีระบบดูดขยะที่เป็นทั้งของเหลว หรือขยะที่ปนมากับของเหลวได้ 2) เรือมีระบบสายพานลำเลียงตะกร้าที่กักเก็บขยะ ระบบขับเคลื่อนของเรือเป็นแบบใบจักร พร้อมด้วยระบบทุ่นล้อมคราบน้ำมัน และมีระบบไฮดรอลิกส์สนับสนุนการทำงานระบบต่างๆ ของเรือ เช่น ระบบเก็บขยะ ระบบควบคุมหางเสือ ระบบขจัดคราบน้ำมัน และระบบดับเพลิง เป็นต้น และ 3) ตัวเรือผลิตจากเหล็ก ใช้เครื่องยนต์ Inboard Marine Diesel ขนาด 260 แรงม้า ความยาวตลอดลำ 12.77 เมตร กว้าง 3.48 เมตร ติดตั้งเรดาร์เดินเรือ เครื่องหาตำบลที่เรือด้วยดาวเทียมและหยั่งความลึกน้ำพร้อมแผนที่ เครื่องรับส่งวิทยุสื่อสาร VHF Marine Band อุปกรณ์รายงานตนอัตโนมัติ (AIS) และเครื่องไซเรน มีถังเก็บสารขจัดคราบน้ำมันขนาดไม่น้อยกว่า 50 ลิตร และถังเก็บน้ำมันปนเปื้อนขนาดไม่น้อยกว่า 10 ลูกบาศก์เมตร ติดตั้งปั๊มน้ำทะเลดับเพลิงแรงดันสูงพร้อมติดแท่นปืนฉีดน้ำดับเพลิงหมุนได้ 360 องศา พร้อมถังบรรจุโฟมดับเพลิงขนาด 500 ลิตร