ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
คมนาคม สั่งตรึงราคาค่าโดยสารสาธารณะ
13 พ.ค. 2565

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) เป็นประธานการประชุมหารือมาตรการเยียวยาผลกระทบจากราคาน้ำมัน ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กรมเจ้าท่า (จท.) กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท(ทช.) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เป็นต้น

 

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะยังไม่มีการพิจารณาปรับขึ้นค่าโดยสารรถโดยสารสาธารณะในช่วงนี้ เนื่องจากไม่ต้องการให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน และเห็นว่าราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้ยังเป็นอัตราที่ไม่แน่นอน ควรรออีกสักระยะ ขณะที่ บขส. การรถไฟฯ ใช้น้ำมันในปริมาณมาก การจัดซื้อล็อตใหญ่ทำให้รับราคาที่ต่ำกว่าหน้าปั๊มประมาณ 1 บาท/ลิตร จึงประเมินว่า ยังจะสามารถตรึงค่าโดยสารไปได้อีก

ส่วนผู้ประกอบการเอกชน เนื่องจากไม่ได้รับส่วนลดดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ให้พิจารณามาตราการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ เช่น การขยายเวลาต่อสัญญา หรือยกเว้นค่าธรรมเนียมกรณีใช้รถหรือเรือที่ใช้พลังงานไฟฟ้า เป็นต้น ส่วนมาตรการที่อยู่นอกเหนืออำนาจของกระทรวงคมนาคม จะนำหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายสรพงศ์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการรวบรวมข้อมูล จำนวนผู้ประกอบการขนส่งในแต่ละประเภทที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นในขณะนี้ ได้แก่ คมนาคมทางบก กลุ่มรถบรรทุกขนส่งไม่ประจำทางรวมถึงรถกระบะขนส่งสินค้า ที่จดทะเบียน มีจำนวน 388,620 คัน มีจำนวนผู้ประกอบการ ประมาณ 36,072 ราย มีการใช้น้ำมันดีเซลที่ปริมาณ 24,000 ลิตรต่อวัน

กลุ่มรถโดยสารสาธารณะประจำทาง ทั้งรถขสมก. รถบขส. และรถร่วมเอกชนทั้งหมดที่จดทะเบียนทั่วประเทศ มีจำนวน 62,491 คัน โดยมีใบอนุญาตจำนวน 2,869 ใบ มีการใช้น้ำมันดีเซลที่ปริมาณ 42,842 ลิตรต่อวัน

กลุ่มรถแท็กซี่ มีจำนวน 66,462 คัน รถสามล้อจำนวน 10,472 คัน รถจักรยานยนต์รับจ้าง 111,552 คัน ซึ่งกลุ่มแท็กซี่ ใช้ก๊าซ NGV ส่วนวินจักรยานยนต์รับจ้าง ใช้ น้ำมันเบนซิน ซึ่งได้รับผลกระทบจากราคาเชื้อเพลิงและจากสถานการณ์โควิด-19 ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยจะต้องหามาตรการช่วยเหลือด้านอื่น

คมนาคมทางน้ำ ได้แก่ เรือโดยสารคลองแสนแสบ ปัจจุบันให้บริการ 164 เที่ยวต่อวัน ,เรือด่วนเจ้าพระยา ให้บริการจำนวน 62 เที่ยวต่อวัน ,เรือข้ามฟาก ให้บริการ 979 เที่ยวต่อวัน โดยมีการใช้น้ำมันดีเซลรวมกันที่ปริมาณ 10,700 ลิตรต่อวัน โดยถือเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะราคาน้ำมันเกินระดับต้นทุนที่สามารถจะแบกรับไหว โดยการกำหนดอัตราค่าโดยสารตามช่วงราคาน้ำมันที่ได้ตกลงร่วมกันไว้ แต่ที่ผ่านมา ได้มีการตรึงค่าโดยสารไว้ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงราคาน้ำมัน ซึ่งผู้ประกอบการได้เสนอขอปรับขึ้นค่าโดยสาร

สำหรับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในการบริการผู้โดยสารได้รับเงินอุดหนุนเชิงสังคมสำหรับบริการสาธารณะ (PSO) อยู่แล้ว โดยรฟท.เสนอปรับลดค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของการขนส่งสินค้าทางราง เพื่อช่วยลดภาระผู้ประกอบการเอกชน ขณะที่ขสมก.ได้รับการอุดหนุน PSO สำหรับรถร้อน แต่พบว่า ปัจจุบัน รถปรับอากาศ มีผลขาดทุนอย่างมาก จึงได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการขอรับการอุดหนุน PSO จากรัฐเหมือนรถร้อน เพื่อลดภาระจากให้บริการ ซึ่งได้ให้ขสมก.ทำรายละเอียดข้อมูลตัวเลขให้ชัดเจน เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ต่อไป

ด้านคมนาคมทางอากาศนั้น ปัจจุบันภาครัฐได้มีมาตรการปรับลดอัตราภาษีสรรพาสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น ที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานภายในประเทศ โดยกำหนดอัตราภาษีตามปริมาณ 0.20 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 6 เดือน หรือวันที่ 1 ม.ค. - 30 มิ.ย.65 ซึ่งทางผู้ประกอบการสายการบินภายในประเทศ ได้ขอให้ขยายมาตรการออกไปถึงสิ้นปี 65 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะต้องเสนอเรื่องไปยังกระทรวงการคลัง เนื่องจากการลดภาษีสรรพาสามิตไม่ได้อยู่ในขอบเขตอำนาจของกระทรวงคมนาคม

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...