ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
ตือนผู้ผลิตและส่งออกสินค้าไปอียูต้องระวังในการใช้สารชีวฆาต
25 เม.ย. 2560

กรมการค้าต่างประเทศเตือนภัยผู้ผลิตและส่งออกสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ และยานยนต์เข้าอียู ต้องระมัดระวังในการใช้สารชีวฆาต หลังอียูออกกฎหมายควบคุมการจำหน่ายและการใช้สาร โดยได้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา

 

          นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกกฎหมายว่าด้วยการจำหน่ายและการใช้สารชีวฆาต (Biocidal Products Regulation [EU] No. 528 / 2012 : BPR) ซึ่งเป็นสารที่ใช้ฆ่าหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิต เช่น แบคทีเรีย รา วัชพืช และแมลง เป็นต้น เพื่อควบคุมการใช้สารและผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการใช้สารดังกล่าวในอียู โดยจะอนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะสารชีวฆาตที่อียูอนุญาตแล้วเท่านั้น หรือสาร   ชีวฆาตที่อยู่ระหว่างการยื่นขออนุญาตก่อนวันที่ 1 ก.ย. 2559 ทำให้การนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ และยานยนต์มายังอียู จะต้องปฏิบัติตามระเบียบตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2560          ที่ผ่านมา

          สำหรับกฎหมายดังกล่าว ได้กำหนดควบคุมสารชีวฆาตจำนวน 22 รายการ ใน 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มทำลายเชื้อโรค (Disinfectants) คือ สารที่ใช้ฆ่าเชื้อโรคบนผิวหนัง พื้นผิววัสดุ อุปกรณ์ 2. กลุ่มวัตถุกันเสีย (Preservatives) คือ สารที่ใช้ยืดอายุสินค้า 3. กลุ่มควบคุมศัตรูพืชและสัตว์ (Pest Control) คือ สารที่ใช้ควบคุมหนู นก หอย หนอน แมลง และ 4. กลุ่มสารชีวฆาตอื่นๆ (Other Biocidal Products) คือ สารที่ใช้ควบคุมการเติบโตของสิ่งมีชีวิต อาทิ ถนอมอวัยวะศพมนุษย์และสัตว์

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการควบคุมผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการใช้สารชีวฆาต ทั้งผลิตภัณฑ์ที่มีชิ้นส่วนต่างๆ ที่ผ่านกระบวนการผลิต ปรับปรุงด้วยสารชีวฆาตที่จงใจเพื่อให้มีผลในการยับยั้ง ฆ่าสิ่งมีชีวิตในตัวผลิตภัณฑ์ อาทิ มุ้งเคลือบยากันยุง ถุงเท้าปลอดกลิ่น ถุงนอนกันยุง แผ่นป้ายกาวฆ่ายุง และเสื้อกันเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น   

           นางดวงพรกล่าวว่า อียูยังได้กำหนดให้สินค้าที่ผ่านการใช้สารชีวฆาต จะต้องติดป้ายฉลากผลิตภัณฑ์ โดยระบุข้อมูลต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด กำหนดให้เปิดเผยข้อมูลสารชีวฆาตในผลิตภัณฑ์เป็นภาษาทางการหรือภาษาของแต่ละประเทศสมาชิก และกำหนดให้เปิดเผยข้อมูลสารชีวฆาตในผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมเมื่อมีการร้องขอจากผู้บริโภคภายในกำหนด 45 วัน ส่วนการขออนุญาตใช้สาร ให้ขออนุญาตได้จากสมาชิกอียูประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือจากคณะกรรมาธิการยุโรป โดยจะต้องมีการกำหนดการนำสารชีวฆาตไปใช้งานอย่างเหมาะสมด้วย

          กรมฯ ขอเตือนให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกที่ส่งสินค้าในกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการใช้สารชีวฆาตไปยังอียู จะต้องศึกษากฎระเบียบภายใต้กฎหมายฉบับนี้ให้ดี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกไปยังอียู โดยสามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้ที่ https://echa.europa.eu/regulations/biocidal-products-regulation/understanding-bpr เพื่อที่จะได้นำมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตและการส่งออกให้สอดคล้องกับกฎระเบียบที่กำหนด     นางดวงพรกล่าว

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...