ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
"อาหารเป็นยา” เทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่
19 พ.ค. 2565

 

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ. สนค.) เปิดเผยว่า จากนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในการขับเคลื่อน การส่งออกอาหาร โดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว) พัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้น สนค. ได้ศึกษาแนวโน้มความต้องการสินค้าอาหาร ภายใต้แนวคิด การรับประทานอาหารเป็นยา ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพ เน้นป้องกันปัญหาสุขภาพมากกว่าการรักษา โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดกระแสความต้องการอาหารที่มีคุณสมบัติช่วยเสริมสร้างสุขภาพเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกอาหารรายสำคัญของโลก จะสามารถพัฒนาสินค้าอาหารเพื่อเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม

ปัจจุบัน ผู้บริโภคมีแนวโน้มให้ความสนใจรับประทานอาหารเป็นยาเพิ่มขึ้น โดยเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณค่าต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ รวมถึงอาหารที่ช่วยรักษาหรือป้องกันโรค ทั้งนี้ คุณสมบัติของอาหารในด้านหน้าที่ หรือ ฟังก์ชัน (Functionality) อาทิ การเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และการจัดการด้านอารมณ์ กลายเป็นปัจจัยต้น ๆ ในการพิจารณาเลือกซื้ออาหารของผู้บริโภค และส่งผลให้ความแตกต่างระหว่างอาหารและเครื่องดื่มทั่วไปกับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเริ่มลดลง

สนค. ได้วิเคราะห์ผลการสำรวจสินค้าอาหารที่วางจำหน่ายทั่วโลก ของบริษัทมินเทล (Mintel) ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยการตลาดระดับโลก พบว่า ในช่วงระยะเวลา 10 ปี (ปี 2555 – 2564) มีสินค้าอาหารวางจำหน่าย 1,944,226 รายการ เป็นอาหารประเภทฟังก์ชัน 105,162 รายการ คิดเป็นร้อยละ 5.4 ของสินค้าอาหารทั้งหมด และอาหารที่มีการกล่าวอ้าง (Claim) คุณสมบัติด้านฟังก์ชัน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยคุณสมบัติ 5 อันดับแรก ที่มีการกล่าวอ้างมากที่สุด ซึ่งระบุถึงประโยชน์ที่มีต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ได้แก่ 1) ด้านระบบพลังงาน ร้อยละ 23.6 2) ด้านระบบการย่อยอาหาร ร้อยละ 17.7 3) ด้านระบบหัวใจและหลอดเลือด ร้อยละ 17.6 4) ด้านระบบกระดูก ร้อยละ 15.3 และ 5) ด้านสารต้านอนุมูลอิสระ ร้อยละ 14.7 สำหรับตลาดที่มีการวางจำหน่ายสินค้าอาหารฟังก์ชันมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) อินเดีย คิดเป็นร้อยละ 9.5 (2) สหรัฐฯ ร้อยละ 9.2 (3) จีน ร้อยละ 5.7 (4) สหราชอาณาจักร ร้อยละ 5.3 และ (5) เม็กซิโก ร้อยละ 3.9

สำหรับสินค้าอาหารที่ผลิตจากประเทศไทย ระหว่างปี 2555 – 2564 มี 25,900 รายการ เป็นสินค้าอาหารประเภทฟังก์ชัน 1,684 รายการ หรือร้อยละ 6.5 ของสินค้าอาหารไทยทั้งหมด จะเห็นว่าไทย มีสัดส่วนสินค้าอาหารประเภทฟังก์ชันสูงกว่าภาพรวมของโลก (ที่ร้อยละ 5.4) โดยคุณสมบัติ 5 อันดับแรก ที่สินค้าไทยมีการกล่าวอ้างมากที่สุด คือ 1) ด้านสารต้านอนุมูลอิสระ ร้อยละ 25.1 ของจำนวนสินค้าอาหารที่ผลิตจากไทย 2) ด้านสมองและระบบประสาท ร้อยละ 21.4 3) ด้านระบบพลังงาน ร้อยละ 20.84) ด้านระบบหัวใจและ หลอดเลือด ร้อยละ 20.2 และ 5) ด้านระบบการย่อยอาหาร ร้อยละ 17.5 ซึ่งจะเห็นว่าอาหารที่ผลิตจากไทย มีการกล่าวอ้างคุณสมบัติด้านฟังก์ชันที่สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์อาหารทั่วโลก

แนวคิดการรับประทานอาหารเป็นยา ทำให้คุณสมบัติด้านฟังก์ชันกลายเป็นสิ่งขับเคลื่อนทำให้เกิดนวัตกรรมในสินค้าอาหาร ผู้บริโภคหันมาสนใจอาหารที่มีวัตถุดิบหรือส่วนประกอบที่มีคุณสมบัติช่วยป้องกันและรักษาสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงต้องการความเป็นธรรมชาติ โดยเฉพาะอาหารที่มีส่วนผสม จากธรรมชาติ และปราศจากสารเคมีหรือสารสังเคราะห์ (Clean Label) ซึ่งไทยมีจุดเด่นด้านวัตถุดิบที่หลากหลาย เช่น สมุนไพรไทย มีสรรพคุณในการรักษาและป้องกันโรคต่าง ๆ ดังนั้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารไทยให้มีสรรพคุณและวางตำแหน่งสินค้า (Positioning) เพื่อสร้างความรับรู้แก่ผู้บริโภคว่า “อาหารเป็นยา” จึงเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าอาหารไทย

ผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ มีความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารเป็นยา เพื่อป้องกันรักษาโรคและดูแลสุขภาพมากขึ้น ถือเป็นทางเลือกเพิ่มเติม หรือใช้ควบคู่กับการดูแลรักษาสุขภาพด้วยการใช้ยาแพทย์ แผนปัจจุบัน ซึ่งเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เทรนด์ “อาหารเป็นยา” ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารเป็นยา เช่น ชาชงสมุนไพร มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการปวด อาการคลื่นไส้ ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน เครื่องดื่มผสมขมิ้นชันและขิง ช่วยลดอาการปวดตามข้อ และการนำเยื่อของเปลือกไข่ มาเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ เสริมอาหาร เนื่องจากอุดมไปด้วยคอลลาเจนและสารสำคัญหลายชนิด โปรตีนบาร์หรือโปรตีนอัดแท่ง สำหรับ ผู้ที่ควบคุมน้ำหนักหรือนักกีฬา นมวัวปราศจากแลคโตส (Lactose free) สำหรับผู้ที่แพ้น้ำตาลแลคโตส เป็นต้น ถือเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการได้ผลิตและพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ตรงจุด

ผอ.สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า แนวโน้มดังกล่าวเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาสินค้าอาหาร โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณสมบัติ ด้านดูแลป้องกันและรักษาสุขภาพ ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัว ต่อยอด พัฒนาผลิตภัณฑ์ตามพฤติกรรม ของผู้บริโภค สร้างจุดแข็งทางการตลาด ดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภค สร้างมูลค่าเพิ่มให้อาหารไทย รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับกฎหมายและกฎระเบียบของตลาดเป้าหมาย นอกจากนี้ การกล่าวอ้างทางสุขภาพ ของอาหาร ต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องและเป็นปัจจุบันด้วย

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...