นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานเสวนานานาชาติ APEC BCG Symposium 2022 พร้อมด้วย Mr.Jose Miguel Ahumada Vice Minister, Ministry of Foreign Affairs, Chile และ Dr. Rebecca Sta Maria APEC Executive Director, APEC Secretariat และผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ที่ห้อง Ballroom A-B ชั้น 23 โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์
นายจุรินทร์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการเสวนาที่กระทรวงพาณิชย์ประเทศไทยจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่อง BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) และต้องการให้เวทีนี้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติและประสบการณ์ในการใช้โมเดลเศรษฐกิจ แบบ BCG และแลกเปลี่ยนนโยบายภาครัฐและการส่งเสริมให้ MSMEs ปรับตัวเข้าสู่การใช้ BCG Model ขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปคต่อไป
BCG Model ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ 1. Bio Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เพื่อนำความหลากหลายทางชีวภาพของกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปคและไทยมาใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ 2.เศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของประเทศให้เกิดความคุ้มค่าเกิดของเสียที่ทำลายสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด หรือ Reduce นอกจากนั้น เพื่อนำของเหลือใช้หรือผลิตผลพลอยได้มาใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจหรือ Reuse และสุดท้าย Recycle นำของใช้แล้วกลับมาผลิตใช้ไหม่เพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด และ Green Economy
เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจทั้งภาคการผลิตและบริการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลักและเพื่อให้ภาคการผลิตและภาคบริการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด
ประเทศไทยประกาศ BCG Model เป็นวาระแห่งชาติเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2021 ที่ผ่านมาเพื่อเป็นโมเดลทางเศรษฐกิจที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับ SDGs Goal ของสหประชาชาติ 17 ข้อ (Sustainable Development Goals–SDGs หรือเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน) และหลายประเทศก็กำลังเดินหน้าเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ เช่นออสเตรเลีย มีแผนพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพในรัฐควีนส์แลนด์ สิงคโปร์ มีนโยบาย Zero Waste Masterplanที่มุ่งไปสู่การปลอดขยะของประเทศ และจีนมีแผนพัฒนา 5 ปี ฉบับที่ 14 ที่สอดคล้องกับเป้าหมาย และประเทศแคนาดาใช้นโยบาย ไบโอดิจิทัล คอนเวอร์เจนซ์ (Bio-Digital Convergence)
ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบผสมผสานระหว่างระบบสิ่งมีชีวิตกับเทคโนโลยีดิจิทัล
สำหรับ BCG Model ของไทยจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ ทั้งไทยกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเอเปคและโลกในอนาคต ทั้งการสร้างรายได้และกระจายรายได้ และวันนี้มุ่งเน้นให้ SMEs และ Micro SMEs พัฒนาภาคการผลิตและภาคการบริการโดยใช้ BCG Model เป็นด้านหลัก เพื่อให้ภาคการผลิตและบริการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและตนเชื่อว่าเป็นเป้าหมายร่วมกันของเขตเศรษฐกิจเอเปคทุกเขต
ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของไทยหลังจากประกาศเป็นวาระแห่งชาติ กระทรวงพาณิชย์ที่ตนรับผิดชอบได้มีการแยกหมวดการสนับสนุนส่งเสริมสินค้าและบริการเป็นหมวด BCG โดยเฉพาะ ทั้งการผลิตสินค้าแห่งอนาคต อาหารฟังก์ชัน อาหารทางการแพทย์อาหารออร์แกนิก สินค้าไลฟ์สไตล์และสินค้าวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise ทั้งหมดนี้กำลังขับเคลื่อนโดยใช้ BCG Model และแยกตัวเลขให้เห็นชัด เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจใน 6 เดือนตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปีที่แล้ว ถึงไตรมาสแรกปีนี้ มีมูลค่าการค้าในหมวดนี้เพิ่มขึ้นถึง 7 เท่าตัว
“ตนหวังว่าการเสวนานานาชาติ APEC BCG Symposium 2022 จะทำให้สมาชิกเอเปคแลกเปลี่ยนประสบการณ์หาหนทางใหม่ในการขับเคลื่อนร่วมกันและเพื่อให้การประชุมเอเปคที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้คือ Open Connect Balance บรรลุตามวัตถุประสงค์ต่อไป” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากนั้นนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้เยี่ยมชมบูธ ผู้ประกอบการไทย ประกอบด้วย SCG, PTTGC, Dow, CPF และ ThaiBev เป็นต้น ที่นำผลิตภัณฑ์สินค้าเกี่ยวกับ BCG มาจัดแสดงและเยี่ยมชม นิทรรศการ BCG ที่นำผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กลุ่ม BCG Model มาจัดแสดงจากหลายประเทศที่เป็นสมาชิกการประชุมเขตเศรษฐกิจเอเปค 21 ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ จีนไต้หวัน ญี่ปุ่น จีนฮ่องกงและจีน เป็นต้น