ว่าที่ ร.ท.พิพัฒน์ ตรีรัตน์ฤดี ผู้รับมอบหมายจาก นายนุกูล กองทรัพย์ (ข้าราชการใน จ.ตราด) พาผู้สื่อข่าวดูที่ดินว่างเปล่าเลขที่โฉนด 2925 เนื้อที่ 1 งาน 29 ตารางวา ที่ติดกับถนนสายช้างทูน-บ่อไร่ ต.ช้างทูน อ.บ่อไร่ จ.ตราด โดยอ้างว่าถูกธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME) ยึดไปแล้วขายทอดตลาด จนได้ผู้ชนะประมูลในราคา 235,000 บาท เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 ซึ่งที่ดินว่างเปล่าดังกล่าวอดีตเป็นของ นายนุกุล กองทรัพย์ โดย ว่าที่ ร.ท.พิพัฒน์ ตรีรัตน์ฤดี เล่าที่มาของเรื่องนี้ว่าเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2554 นายนุกูล กองทรัพย์ ได้ค้ำประกันเงินกู้ให้กับ น.ส.เอ (นามสมมติ) กับทางธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย จำนวนเงินต้น 150,000 บาท ต่อมาผู้กู้ได้ขาดการชำระเงินสินเชื่อซึ่งทั้งธนาคารฯ และนายนุกูล กองทรัพย์ ไม่สามารถติดต่อกับ น.ส.เอ (นามสมมติ) ได้ จึงทำให้ธนาคารฯ ได้บอกยกเลิกสัญญาการกู้ฯ และอายัดที่ดินว่างเปล่าดังกล่าวเพื่อให้สำนักงานบังคับคดี จ.ตราด ดำเนินการขายทอดตลาด ต่อไป
ต่อมาในวันที่ 16 เมษายน 2564 นายนุกูล กองทรัพย์ ได้ดำเนินการชำระเงินครบถ้วนตามที่ธนาคารฯ แจ้งหนี้ดังกล่าว เพื่อปิดบัญชี ณ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME) สาขาตราด และรอให้เจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องของธนาคารฯ ดำเนินการทำเรื่องถอนที่ดินดังกล่าวจากสำนักงานบังคับคดี จ.ตราด เพื่อคืนให้กับนายนุกูล กองทรัพย์ เจ้าของที่ดิน แต่ปรากฎว่า สำนักงานบังคับคดี จ.ตราด ได้ดำเนินการประกาศขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าว โดยนัดที่ 1 (20 เมษายน 2564) นัดที่ 2 (11 พฤษภาคม 2564) นัดที่ 3 (1 มิถุนายน 2564) ซึ่งทั้ง 3 นัด ได้ถูกเลื่อนการดำเนินการออกไปเนื่องจากติดสถานการณ์โรคโควิด-19 และได้ดำเนินการขายทอดตลาดอีกครั้งเป็นนัดที่ 4 (22 มิถุนายน 2564) ซึ่ง น.ส.บี (นามสมมติ) เป็นผู้ชนะการประมูลเป็นจำนวนเงิน 235,000 บาท โดยที่นายนุกูล กองทรัพย์ ไม่ทราบเรื่องดังกล่าวมาก่อน เนื่องจากเข้าใจว่าตนได้ดำเนินการชำระเงินเพื่อปิดบัญชีครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว และรอทางธนาคารฯ ดำเนินการถอนที่ดินดังกล่าวจากสำนักงานบังคับคดี จ.ตราด เพื่อมาคืนให้กับตนเอง
ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2564 นายนุกูล กองทรัพย์ ได้ทราบเรื่องจากชาวบ้านที่อาศัยใกล้เคียงกับที่ดินของตนว่ามีบุคคลเข้าไปปรับปรุงพัฒนาที่ดิน จึงดำเนินการเสาะหาข้อเท็จจริงจนทราบว่า น.ส.บี (นามสมมติ) เป็นผู้ชนะการประมูลจากการขายทอดตลาดของ สำนักงานบังคับคดี จ.ตราด ทำให้นายนุกูล กองทรัพย์ ติดต่อสอบถามไปทางธนาคารฯ (SME) สำนักงานใหญ่ เพราะเกิดความสงสัยถึงขบวนการทำงานของธนาคารฯ สาขาตราด ที่ปล่อยให้เกิดความผิดพลาดแบบนี้ได้อย่างไร ปรากฎว่าผู้เกี่ยวข้องของธนาคารฯ ได้ให้ทนายความ (เอาท์ซอร์ส) ของธนาคารฯ มาทำหน้าที่ทนายความให้ นายนุกูล กองทรัพย์ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าว โดยนัดไต่สวนคำร้องฯ ครั้งที่ 1 (29 พฤศจิกายน 2564) ครั้งที่ 2 (19 มกราคม 2565) ทั้งนี้ ศาล จ.ตราด ได้พิจารณายกคำร้องฯ โดยให้เหตุผลว่าสำนักงานบังคับคดี จ.ตราด และ น.ส.บี (นามสมมติ) ดำนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย ล่าสุดวันนี้ทางผู้สื่อข่าวได้ประสานไปยังธนาคารฯ (SME) สาขาตราด บอกว่าขณะนี้ทางสำนักงานใหญ่กำลังดำเนินการเรื่องอยู่ ส่วนพนักงานที่ทำเรื่องดังกล่าวได้ขอลาออกไปก่อนล่วงหน้าแล้ว
ว่าที่ ร.ท.พิพัฒน์ ตรีรัตน์ฤดี กล่าวว่า นายนุกูล กองทรัพย์ อยากจะเรียกร้องให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME) ดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้โดยเร็ว เพราะจากที่ผ่านมาทางธนาคารฯ ได้โทรศัพท์มาเจรจาในลักษณะซื้อเวลาเท่านั้น อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ของธนาคารฯ ได้โทรศัพท์มาแจ้งว่าจะรีบดำเนินการแถลงต่อสำนักงานบังคับคดี จ.ตราด เพื่อนำเงินส่วนเกินอันเกิดจากการขายทอดตลาดคืนให้ นายนุกูล กองทรัพย์ โดยให้เหตุผลว่าเป็นสิทธิอันพึงได้ แต่กลับไปรายงานต่อผู้บริหารธนาคารฯ ว่า นายนุกูล กองทรัพย์ ยอมรับการเยียวยาเป็นจำนวนเงินที่ได้คืนจากการแถลงสำนักงานบังคับคดี จ.ตราด ซึ่งทาง นายนุกูล กองทรัพย์ มีความกังวลว่าคดีความดังกล่าวจะหมดอายุความในการฟ้องร้องเพื่อดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งกับผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงมีความรู้สึกว่าธนาคารฯ ไม่มีความจริงใจต่อการแก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าว ทั้งนี้ ว่าที่ ร.ท.พิพัฒน์ ตรีรัตน์ฤดี ยังกล่าวต่ออีกด้วยว่า นายนุกูล กองทรัพย์ ต้องการเพียงแค่ที่ดินดังกล่าวคืนมาเท่านั้น เนื่องจากเป็นสิ่งที่มีค่าในด้านของจิตใจที่ตั้งใจมอบให้แก่ทายาท ต่อไป