นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เป็นประธานเปิดการประชุมระดมความคิดเห็นระดับประเทศโครงการ “ศึกษาจัดทำแผนแม่บทและขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่”
นายดนุชา กล่าวว่า จากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจาก การระบาดของ โควิด-19 ส่งผลให้ทุกประเทศทั่วโลกมีการปรับตัวและวางแผนพัฒนาประเทศให้ครอบคลุมในทุก ๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้น สศช. จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และบริษัท อินฟินิตี้ แพลน เมเนจเม้นท์ จำกัด ศึกษาแนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ภายใต้โครงการ “ศึกษาจัดทำแผนแม่บทและขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่” เพื่อศึกษาถึงศักยภาพและศักยภาพและโอกาสของพื้นที่ การวางยุทธศาสตร์การพัฒนา และการออกแบบฉากทัศน์เศรษฐกิจเชิงพื้นที่ของจังหวัดในระเบียงเศรษฐกิจ ตามจุดเด่นของแต่ละภาค ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การผลิต การจ้างงาน การบริโภคสินค้าและบริการ ในศูนย์กลางของระเบียงเศรษฐกิจที่เป็นจังหวัดหลัก และกระจายความเจริญไปยังพื้นที่โดยรอบ รวมทั้งเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจเชิงพื้นให้ฟื้นตัวภายหลังการแพร่ระบาดของ โควิด-19
นายดนุชา กล่าวต่อไปว่า สศช. ดำเนินโครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทและขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ เพื่อเป็นการกำหนดประเด็นการพัฒนาและแผนแม่บทการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และช่วงปี พ.ศ. 2565 – 2575 ผ่านการส่งเสริมและพัฒนาให้สอดคล้องกับศักยภาพและโอกาสของแต่ละพื้นที่ และสอดคล้องนโยบายและเป้าหมายการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้ได้แนวทางการขับเคลื่อน และพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ให้เกิดความสำเร็จ และเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ โครงการศึกษาฯ ได้มีการกำหนดการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ไว้ 4 ภาค 16 จังหวัด ดังนี้
1.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor: NEC – Creative LANNA) ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำปาง และจังหวัดลำพูน โดยแนวทางสำหรับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือนั้น เพื่อพัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักอย่างยั่งยืนโดยจะดำเนินการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมและบริการดั้งเดิมที่มีศักยภาพ การสร้างฐานอุตสาหกรรมและบริการใหม่ รวมไปถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ล้านนา
2.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor: NeEC – Bioeconomy) ได้แก่ จังหวัดหนองคาย จังหวัดอุดรธานี จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดนครราชสีมา ทั้ง 4 จังหวัดถือว่าเป็นเมืองศูนย์กลางของภาคที่มีศักยภาพด้านการเกษตร เป็นแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพ สามารถพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดห่วงโซ่การผลิตเชื่อมโยงการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพ เช่น ผลิตภัณฑ์ชีวภาพจากอ้อยและมันสำปะหลัง และอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต (โปรตีนแทนเนื้อสัตว์จากพืช และโปรตีนจากแมลง)
3.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก (Central-Western Economic Corridor: CWEC) ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครปฐม และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยทั้ง 4 จังหวัดถือว่าเป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำของภาค ทั้งด้านอุตสาหกรรมเกษตร อาหารแปรรูป การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมไฮเทคมูลค่าสูง และมีศักยภาพในการเชื่อมโยงกับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศและพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ดังนั้น แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่จึงมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม งานวิจัยเข้ามาเพิ่มขีดความสามารถและพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต รวมไปถึงการเพิ่มศักยภาพด้านระบบขนส่งโลจิสติกส์เพื่อให้ภาคกลาง-ตะวันตกเป็นศูนย์กลางในการขนส่งและกระจายสินค้า
4.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ได้แก่ จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเป็น จุดศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและระบบโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศในฝั่งอันดามัน (BIMSTEC) เป็นประตูการค้า Western gateway และเป็นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง รวมทั้งเพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการท่องเที่ยวสู่นานาชาติ
นายดนุชากล่าวว่า จากการคาดการณ์แนวทางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ จะส่งผลดีต่อการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจไทยในระดับมหภาค การปรับโครงสร้างและการขยายตัวในแต่ละระเบียงจากศูนย์กลางระเบียงสู่พื้นที่พัฒนารอบ สำหรับโครงการทั้งหมดที่จะดำเนินการในช่วงปี พ.ศ. 2565-2575 ของแต่ละภาค มีการคาดการณ์ว่าจะช่วยให้เกิดการลงทุนในพื้นที่รวมประมาณ 300,000 ล้านบาท โดยหากดำเนินการสำเร็จคาดว่าจะส่งผลให้จีดีพี ของประเทศเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 5.8% ต่อปี ตอบสนองนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ มุ่งสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ และกระจายความเจริญสู่พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ อันจะเป็นการเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยสำหรับการฟื้นตัวหลังจากที่สถานการณ์การระบาดของ โควิด-19 คลี่คลายลงในอนาคต
“ผลการศึกษาฯ จะเป็นกรอบการพัฒนาที่ช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยในการประชุมที่ผ่านมา กพศ. ได้มีมติสำคัญในการกำหนดขอบเขตพื้นที่ของระเบียงฯ ใน 4 ภาค รวม 16 จังหวัด”นายดนุชากล่าว
นายดนุชา กล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้ให้ความเห็นชอบข้อเสนอการขับเคลื่อนระเบียงฯ ทั้งในเรื่องการให้สิทธิประโยชน์และการอำนวยความสะดวกการลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาห่วงโซ่การผลิตและบริการ การพัฒนาแรงงานและสนับสนุนผู้ประกอบการ และการวิจัยและพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งได้กำหนดกลไกที่จะช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานทั้งในส่วนกลางและในระดับพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพให้ประสานการดำเนินงานได้ ดังนั้น จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการนำข้อมูลและข้อเสนอแนะเชิงวิชาการ และความเห็นจากการระดมความคิดเห็นภายใต้การศึกษาฯ มาใช้ประกอบในการขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว