กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนเมษายน 2565 ขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 0.56 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ส่งผลให้ MPI 4 เดือนแรกปี 2565 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.37 ด้านสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) คาดเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการส่งออกที่เติบโตต่อเนื่อง สอดรับตลาดภายในประเทศฟื้นตัวหลังการเปิดประเทศ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนเมษายน 2565 ขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 0.56 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน ส่งผลให้ MPI ช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 1.37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต 4 เดือนแรกอยู่ที่ระดับ 64.63 หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศคลี่คลายลงจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่าง ๆ ตามลำดับ ส่งผลให้การบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่เติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมทางการเกษตร
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศมีแนวโน้มคลี่คลาย ประชาชนสามารถออกมาใช้ชีวิตประจำวันและบริโภคได้ตามปกติมากขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว สะท้อนได้จากอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลดีต่อภาคการส่งออกทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถังและอากาศยาน) เดือนเมษายนขยายตัวร้อยละ 4.98 ในขณะที่สถานการณ์ความไม่สงบของรัสเซียและยูเครนได้ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะราคาพลังงานและค่าขนส่ง ด้านภาพรวมสถานการณ์เงินเฟ้อเริ่มส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม สะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าหมวดสินค้าอุตสาหกรรมเดือนเมษายนขยายตัวที่ร้อยละ 11.4 เร่งตัวขึ้นจากเดือนมีนาคมขยายตัวที่ร้อยละ 10.4
ขณะเดียวกันสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทยยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดย สศอ. ได้ใช้เครื่องมือระบบเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย (The Early Warning System Industry Economics : EWS-IE) ในการคำนวณ สะท้อนให้เห็นว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะขยายตัวใน 1-2 เดือนข้างหน้า อุปสงค์ในประเทศและการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว ความเชื่อมั่นทางภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นจากการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้มีความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ด้านปัจจัยต่างประเทศยังคงส่งสัญญาณปกติจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายประเทศที่ยังเติบโตได้
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ดัชนีผลผลิตส่งผลบวกในเดือนเมษายน 2565 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
ยานยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.82 จากผลิตภัณฑ์รถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดกลาง เครื่องยนต์ดีเซล เป็นหลัก โดยขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและประเทศคู่ค้า รวมถึงราคาพืชผลเกษตรสำคัญหลายรายการปรับตัวสูงขึ้น
น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.53 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเครื่องบิน เป็นหลัก เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศมีแนวโน้มคลี่คลาย เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้การขนส่งเดินทางในประเทศเพิ่มขึ้น ประชาชนสามารถการเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ได้
ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.41 จากผลิตภัณฑ์ยางแท่ง เป็นหลัก เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของแรงงานในปีก่อน ส่งผลให้มีการผลิตได้ เป็นจำนวนน้อย ประกอบกับในปีนี้เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าฟื้นตัวจึงมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
เครื่องประดับ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 35.95 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ในหลายประเทศมีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ และทยอยเปิดเมือง ส่งผลให้เกิดการท่องเที่ยวและบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มมากขึ้น
ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.22 จากผลิตภัณฑ์ PCBA และ IC เป็นหลัก เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง