นายสมชาย หาญหิรัญ ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank) เปิดเผยถึงภายหลังการเปิดตัวสินเชื่อ SMEs Transformation Loanเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2560 ที่นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดนั้น เพียง 1 เดือนได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรมจากการจัด road show 11 จังหวัดแล้ว จำนวน 2,483 ราย แสดงความประสงค์เข้ายื่นขอสินเชื่อ 1,160 ราย วงเงินรวม 3,472 ล้านบาท เฉลี่ยรายละ 3 ล้านบาท และขณะนี้ทุกสาขาทั่วประเทศผู้ประกอบการได้ลงทะเบียนในระบบแล้ว 838 ราย วงเงินรวม 4,012 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 27 ของวงเงินสินเชื่อรวมโครงการ อยู่ระหว่างจัดเตรียมเอกสาร 588 ราย วงเงิน 2,777 ล้านบาท อนุมัติเรียบร้อยแล้ว 67 ราย เป็นจำนวนเงิน 268 ล้านบาท ทั้งหมดนี้แบ่งเป็น ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพหรือมีแนวโน้มเติบโตเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ร้อยละ 63 ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจทำให้กิจการมีปัญหาด้านสภาพคล่อง ร้อยละ 32 และผู้ประกอบการใหม่ (New/ Start Up) หรือที่มีนวัตกรรม ร้อยละ 5 นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่จะจัดอีก 6 จังหวัด อาทิ จังหวัดลพบุรี ในวันที่ 4 พ.ค. จังหวัดพิษณุโลกและนครปฐม ในวันที่ 9 พ.ค. จังหวัดฉะเชิงเทรา ในวันที่ 12 พ.ค. จังหวัดน่าน ในวันที่ 19 พ.ค. และจังหวัดกระบี่ ในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานและยื่นขอสินเชื่อได้ ณ ทุกสาขาธนาคารทั่วประเทศ
ทั้งนี้ โครงการสินเชื่อ SMEs Transformation Loan วงเงิน 15,000 ล้าน ได้รับการอนุมัติตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2560 มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs มุ่งเน้นการพัฒนาให้องค์ความรู้การประกอบธุรกิจและการวางแผนธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งช่วยเหลือด้านเงินทุน ซึ่งผู้ประกอบการสามารถยื่นขอสินเชื่อได้รายละไม่เกิน 15 ล้านบาท ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน อัตราดอกเบี้ยต่ำ 3% คงที่ 3 ปีแรก ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี นอกจากนี้ กรณีกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท สามารถให้ บสย. ค้ำประกันได้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์
นายสมชาย กล่าวอีกว่า ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการสามารถแสดงความประสงค์ขอสินเชื่อจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือสนับสนุน SMEs ทั้งในด้านเงินทุนและองค์ความรู้ เพิ่มขีดความสามารถ SMEs ให้พัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงตามยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศไทยที่สอดคล้องตามนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งขณะนี้ทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์จังหวัดและคัดเลือกอุตสาหกรรมเป้าหมาย/ประเภทธุรกิจที่จะส่งเสริมสนับสนุนเรียบร้อยแล้ว เช่น ภาคการเกษตร, แปรรูปอาหาร, แหล่งท่องเที่ยว, กลุ่ม START UP และกลุ่มเทคโนโลยี นวัตกรรม เป็นต้น โดยได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายแต่ละจังหวัดรับทราบแนวทางต่อไป โดยหลายจังหวัดได้รับความสนใจมีผู้เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก ธพว. ในฐานะหน่วยงานร่วมดำเนินการทำหน้าที่ในส่วนของการบริหารงานด้านสินเชื่อ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกิจการผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายที่แสดงความประสงค์ขอสินเชื่อ พร้อมจัดทำรายงานวิเคราะห์ความเป็นไปได้ เพื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐประจำจังหวัดพิจารณาอนุมัติต่อไป ซึ่งคาดว่าเดือน พ.ค. จะมีผู้ประกอบการได้รับอนุมัติวงเงินจากกองทุนฯ จำนวน 2-3 รายในแต่ละจังหวัด
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจใช้บริการเงินกู้สินเชื่อ SMEs Transformation Loan และกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ สามารถติดต่อขอยื่นกู้ได้แล้วที่สาขาทั่วประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Call Center 1357 หรือติดตามกิจกรรมดีๆ ผ่านช่องทางfacebook.com/SMEDevelopmentBank