จากภาวะราคาน้ำมันแพง ได้ส่งผลกระทบกับอาชีพเกษตรกรเลี้ยงกุ้งก้ามกราม สัตว์เศรษฐกิจอันดับหนึ่งของจังหวัดกาฬสินธุ์ ถึงแม้จะเปิดเมืองหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย แต่ตลาดกุ้งก้ามกรามที่เคยคึกคักกลับยังซบเซาอีกครั้ง โดยพ่อค้าคนกลางและผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหารระบุ เนื่องจากน้ำมันแพง ค่าขนส่งไม่คุ้มทุน กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ขณะที่ชาวนากุ้งหลายรายหาทางออก โดยจับกุ้งขึ้นรถเร่ขายตามหมู่บ้านราคาถูก เพื่อความอยู่รอดและลดความหนาแม่น ก่อนที่กุ้งก้ามกรามจะน็อคตาย
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการจับกุ้งก้ามกราม สัตว์เศรษฐกิจอันดับหนึ่งของ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งมีแหล่งผลิตในเขตพื้นที่ ต.บัวบาน ต.เขาพระนอน ต.นาเชือก อ.ยางตลาด, ต.ลำพาน ต.ลำคลอง อ.เมืองกาฬสินธุ์ และ ต.หัวหิน อ.ห้วยเม็ก ทั้งนี้ เดิมบรรยากาศการจับกุ้งจำหน่ายเป็นไปด้วยความคึกคักตลอดปี หลังสถานการณ์โรคโควิด-19 ดีขึ้น มีพ่อค้าคนกลางจากต่างจังหวัด รวมทั้งพ่อค้าคนกลางในพื้นที่ มารับซื้อกุ้งก้ามกรามจากเกษตรกรถึงที่ และมีการจับกุ้งจำหน่ายส่งให้กับลูกค้าทั่วภาคอีสาน ภาคกลางบางจังหวัด และ สปป.ลาว โดยราคาซื้อขายที่ปากบ่อ กิโลกรัมละ 250 บาท นำส่งลูกค้ากิโลกรัมละ 280-400 บาท ตามระยะทาง เนื่องจากต้องเติมน้ำมัน 2 ส่วน ทั้งน้ำมันรถยนต์และน้ำมันเครื่องทำออกซิเจนในถังกุ้งอีกด้วย แต่ล่าสุดสถานการณ์น้ำมันแพง ทำให้บรรยากาศการรับซื้อและขายกุ้งก้ามกรามกลับเงียบเงียบเหงาและซบเซาอีกครั้ง
นายแก้ว ภูดอนนาง อายุ 66 ปี พ่อค้าคนกลางขายกุ้งก้ามกรามและเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม บ้านตูม หมู่ 19 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การค้าขายกุ้งก้ามกรามในช่วงนี้ประสบปัญหามาก ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี ทำให้แหล่งรับซื้อกุ้งสดทั่วไป เช่น ตลาดสด ร้านค้า ร้านอาหาร หรือจุดพักขายตามริมทาง ได้รับผลกระทบและเลิกกิจการไปหลายแห่ง ทั้งนี้ถึงแม้ปัจจุบันสถานการณ์โรคโควิด-19 จะผ่อนคลายและมีการเปิดเมือง เพื่อให้มีการค้าขายตามปกติ แต่ก็ประสบปัญหาน้ำมันแพง ค่าครองชีพสูง เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งต้องกลับมาประสบปัญหาอีกรอบ บางรายถึงกับยอมลดราคาลงเหลือกิโลกรัมละ 200 บาท ก็ยังขายไม่ได้ เนื่องจากไม่มีตลาดรับซื้อ ประชาชนไม่มีเงินและขาดกำลังซื้อ
ด้านนายปิยะ ลิขิตชีวิตตน อายุ 41 ปี อยู่บ้านเลขที่ 62 หมู่ 6 บ้านนาแก ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง เจ้าของร้านกุ้งสดและขายอาหารเมนูกุ้งก้ามกราม กล่าวว่า ผลกระทบจากภาวะราคาน้ำมันแพง ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงธุรกิจกุ้งก้ามกรามเป็นอย่างมาก จากที่เคยมีการจับกุ้งจำหน่ายอย่างคึกคัก ในภาพรวมมีพ่อค้าคนกลางนำกุ้งไปจำหน่ายเฉลี่ยวันละ 2-3 ตัน หรือร้านของตนเคยจำหน่ายทั้งกุ้งสด และมีลูกค้าเข้าร้าน สั่งอาหารที่ทำจากเมนูกุ้งก้ามกรามวันละ 100 กิโลกรัม แต่ทุกวันนี้กลับเงียบเหงา บางวันขายไม่ได้แม่แต่กิโลฯเดียว
นายปิยะ กล่าวอีกว่า เมื่อบรรยากาศการจำหน่ายกุ้งก้ามกรามเปลี่ยนไป ไม่เป็นไปตามคาดหวังว่าจะขายดีช่วงสถานการณ์โควิดคลี่คลาย จึงทำให้กุ้งก้ามกรามของเกษตรกรตกค้างในบ่อเป็นจำนวนมาก เกิดภาวะปริมาณกุ้งในบ่อหนาแน่น และยังเสี่ยงต่อการน็อคตายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะวันใดที่อากาศวิปริต ดังนั้น จึงพบว่ามีเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งหลายราย ได้ผันตัวเองมาเป็นพ่อค้าขายกุ้งเสียเอง โดยให้ช่างประกอบถังบรรจุกุ้งและติดตั้งเครื่องทำออกซิเจนบนรถ เพื่อจับกุ้งที่หนาแน่นในบ่อไปเร่ขายตามหมู่บ้าน โดยยอมขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาปกติ ที่ปากบ่อกิโลกรัมละ 250 บาท เป็นกิโลกรัมละ 200 บาทหรือต่ำกว่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงกุ้งในบ่อน็อคตาย และพอที่จะมีรายได้เลี้ยงครอบครัว ในยุคค่าน้ำมันแพง ตลาดกุ้งซบเซาดังกล่าว
ทีมข่าวกาฬสินธุ์