นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส ว่า ปัจจุบันผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ นิยมรับประทานอาหารนอกบ้านเพื่อสังสรรค์หรือพบปะเพื่อนฝูง ในร้านอาหารบรรยากาศสบายๆ ผ่อนคลายหรือที่เรียกว่า Casual Dining ซึ่งร้านอาหารในกลุ่ม Casual นี้ค่อนข้างกว้าง เริ่มจากร้านอาหารประจำท้องถิ่นทั่วไปที่ไม่ใช่ฟาสต์ฟู้ด ร้านอาหารที่ให้บริการอาหารประจำชาติ (Ethnic Food) เช่น ไทย จีน อินเดีย ไปจนถึงร้านที่มีเอกลักษณ์พิเศษ (Specialty) ต่างๆ ร้านอาหาร Casual Dining นี้จะเน้นคอนเซ็ปต์บรรยากาศสบาย การบริการเป็นกันเอง อาหารมีคุณภาพ รสชาติดี และราคาไม่สูงมาก
“ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในต่างประเทศโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งผู้ที่สนใจในธุรกิจนี้ หากต้องการเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นคนรุ่นใหม่ นอกจากรสชาติอาหารที่อร่อยถูกปากผู้บริโภคแล้ว ควรสร้างบรรยากาศในร้านอาหารให้น่าสนใจ มีสีสัน ความสนุกสนาน เพื่อให้ตอบรับกับกระแสการแนะนำและบอกต่อผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นสื่อที่มีอิทธิพลในการดึงดูดลูกค้า พร้อมทั้งสร้างเทรนด์ปรับโฉม Casual Dining จากรูปแบบเดิม เป็นร้านที่มีเอกลักษณ์ให้ติดตาม สร้างกิจกรรม และเพิ่มลูกเล่นทางการตลาด” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าว
นางจิรภาพรรณ มลิทอง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส กล่าวเสริมว่า ร้านอาหาร Casual Dining ได้รับความสนใจจากผู้บริโภค ร้านอาหาร และองค์กรด้านอาหารในสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา สถาบันด้านอาหารของสหรัฐฯ หรือ The Culinary Institute of America (CIA) ได้จัดงาน The 19th World of Flavor ภายใต้แนวคิด Casual by Design ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส ได้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว โดยได้เชิญเชฟชาวไทยระดับมิชลินสตาร์ชื่อดัง Pim Techamuanvivit จากร้านกินข้าว (Kin Khao) มาแนะนำวิธีประกอบอาหารโดยใช้ข้าวหอมมะลิไทยเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ เมนู “ข้าวกั้นจิ้น/ข้าวเงี้ยว” “ข้าวตังหน้าตั้ง” และ “ข้าวยำ”
พร้อมกันนี้ เชฟป๊อบ Kasem Saengsawang จากร้านอาหารฟาร์มเฮ้าส์ คิทเช่น ไทย ควิซีน (Farmhouse Kitchen Thai Cuisine) ได้มาร่วมทำเมนู Casual ในงานให้เชฟและฟู้ดบล็อกเกอร์ได้ชิมตลอด การจัดงานถึง 6 เมนู ได้แก่ ข้าวมันไก่ ข้าวสวยกับลาบขนุน ข้าวหุงน้ำดอกอัญชันกับพะแนงซี่โครงเนื้อ ลาบเห็ด ไก่สะเต๊ะ และข้าวหุงขมิ้นกับคั่วกลิ้งกุ้ง ซึ่งเมนูของทั้งเชฟ Pim Techamuanvivit และเชฟป๊อบ Kasem Saengsawang ได้รับการตอบรับจากผู้ที่อยู่ในวงการอาหารที่เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
“ทุกวันนี้เทคนิคในการทำอาหารระดับเชฟมืออาชีพ และเทคนิคอาหารพื้นบ้าน มีการเผยแพร่อย่างกว้างขวางเป็นที่ยอมรับและรู้จักทั้งในกลุ่มเชฟและกลุ่มผู้บริโภคทั่วโลก ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในต่างประเทศควรเพิ่มความน่าสนใจในแต่ละเมนู รวมทั้งสีสัน กลิ่น รส จะช่วยเสริมสร้างความเป็นเอกลักษณ์และส่งผลทางการตลาดได้ เช่น การนำดอกอัญชัญ ขมิ้น หรือวัสดุธรรมชาติมาใช้หุงเป็นข้าวสี การนำดอกไม้ที่รับประทานได้มาจัดในจานอาหาร การนำสมุนไพรมาผสมเพื่อสร้างกลิ่นและรสสำหรับเมนูพิเศษ การจัดอาหารที่ให้ความรู้สึกแตกต่างเช่น การใช้ถาดสังกะสี ปิ่นโตโบราณ ที่สำคัญคือ รสชาติและความกลมกล่อมของอาหารที่ต้องคงที่สม่ำเสมอ” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าวในตอนท้าย
นอกจากนี้ การให้บริการที่ดี ส่งผลให้มีการแนะนำและบอกต่อ ดึงดูดลูกค้าอย่างต่อเนื่อง การมีส่วนร่วมต่อสังคม และการบริการจัดเลี้ยงนอกสถานที่ล้วนมีส่วนช่วยในการประชาสัมพันธ์ การปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าไม่เพียงแต่ในร้านอาหาร หากรวมถึงการสื่อสารบนโซเชียลมีเดียที่สอดคล้องกับการให้บริการในร้าน สามารถสื่อถึงบุคลิกหรือความเป็นตัวตนของร้านได้เป็นอย่างดี