ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
รถไฟฟ้าสายสีเหลือง-ชมพูเตรียมเปิดทดลองวิ่ง มค.-กพ.66
16 มิ.ย. 2565

16 มิย. 65 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (รวค.) เป็นประธานประชุมคณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู ครั้งที่ 1/2565 เพื่อติดตามความคืบหน้าการก่อสร้าง ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ ผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference) โดยมีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวง (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองปลัดกระทรวง (ด้านอำนวยการ) นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง พร้อมด้วยผู้บริหารและผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

สืบเนื่องจากปัจจุบัน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู การก่อสร้างมีความคืบหน้าตามลำดับ โดยความคืบหน้า ณ ปัจจุบัน สายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว – สำโรง) มีความคืบหน้าการก่อสร้าง ร้อยละ 92.93 มีแผนเปิดให้บริการบางส่วนของเส้นทางในเดือนมกราคม 2566 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในเดือนมิถุนายน 2566 ส่วนสายสีชมพู (ช่วงแคราย - มีนบุรี) มีความคืบหน้าร้อยละ 88.51 มีแผนเปิดให้บริการบางส่วนของเส้นทางในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในเดือนกรกฎาคม 2566 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดให้บริการ ทั้งในส่วนของสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสถานี การเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างรถไฟฟ้ากับรถไฟฟ้า และการเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้ากับระบบคมนาคมขนส่งรอง เช่น รถโดยสารประจำทางและเรือโดยสาร ตลอดจนการพิจารณาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม กระทรวงคมนาคมจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ เพื่อรองรับการเปิดให้บริการ โดยในการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งแรก (Kick-off Meeting) เพื่อมอบหมายนโยบายให้คณะอนุกรรมการด้านต่างๆ ดำเนินการเตรียมความพร้อมฯ ต่อไป

ทั้งนี้ ในการประชุม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีข้อสั่งการ ให้คณะอนุกรรมการด้านต่างๆ ดำเนินการดังนี้

1. คณะอนุกรรมการด้านการเดินรถ การเชื่อมต่อการให้บริการระบบขนส่ง และการประเมินคุณภาพ

1) เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ และทดสอบเดินรถจนเห็นว่ามีความปลอดภัยแล้ว เห็นควรให้มีการทดลองเปิดให้บริการเดินรถเสมือนจริงโดยไม่เก็บค่าบริการ เพื่อให้ทราบอุปสรรคและปัญหาต่างๆ และเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ

2) เห็นควรให้มีการจัดทำแผนการเดินรถให้มีความชัดเจน และเร่งรัดการเปิดให้บริการตามแผนที่วางไว้ พร้อมทั้งจัดเตรียมแผนการจัดการขนส่งสาธารณะระบบรอง เช่น รถโดยสาร ให้สอดคล้องกับการเปิดให้บริการ

3) ให้ตรวจสอบความพร้อมของสถานี และแนวเส้นทางเดินรถให้มีความปลอดภัย

4) ให้เรียนรู้โดยใช้ประสบการณ์ ปัญหาและอุปสรรคที่ผ่านมาจากโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง พร้อมทั้งเตรียมการลดผลกระทบของประชาชนด้านต่างๆ ทั้งในส่วนของผู้โดยสาร และผู้อยู่อาศัยตามแนวเส้นทาง เช่น ข้อร้องเรียนเรื่องเสียงและฝุ่นละออง และการคืนพื้นที่ผิวจราจรจากการก่อสร้าง เป็นต้น

2. คณะอนุกรรมการด้านราคาค่าโดยสารและบัตรโดยสาร

1) ให้มีการนำเทคโนโลยีบัตรโดยสารในรูปแบบ EMV (Europay Mastercard Visa) มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน อีกทั้งยังเป็นผลดีช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและค่าใช้จ่ายในการจำหน่ายบัตร

2) ให้พิจารณาการลดค่าแรกเข้าการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าที่ซ้ำซ้อน โดยให้พิจารณาบนพื้นฐานตามเงื่อนไขของสัญญา และผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

3) ให้พิจารณาการจัดทำรูปแบบอัตราค่าโดยสารแบบแพคเกจ ร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ที่เชื่อมต่อตามแนวเส้นทาง

3. คณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารสาธารณะ

1) เห็นควรให้มีการประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เช่น แผนการเปิดให้บริการ แนวทางการเชื่อมต่อขนส่งมวลชนระบบอื่นๆ โดยประชาสัมพันธ์ให้กระชับสม่ำเสมอ และเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม เป็นต้น

2) ให้คอยตรวจสอบข่าวเท็จที่คลาดเคลื่อนต่างๆ ในสื่อสังคมออนไลน์ และชี้แจงให้ข้อมูลที่ถูกต้องอย่างรวดเร็ว

4. คณะอนุกรรมการด้านการเตรียมการขอพระราชทานนามแนวเส้นทางโครงการ

ให้ประสานคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมข้อมูลประกอบการขอพระราชทานนามแนวเส้นทางโครงการทั้ง 2 สาย โดยให้ดำเนินการตามขั้นตอนและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ ขอให้คณะอนุกรรมการทุกคณะถอดบทเรียนการดำเนินโครงการสายสีแดงมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินโครงการสายสีชมพูและสายสีเหลือง รวมถึงจัดทำ action plan พร้อมกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบให้ชัดเจน เพื่อประโยชน์ในการติดตามผลการดำเนินโครงการอย่างเป็นระบบ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...