การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยอยู่บนสมมติฐานสำคัญ คือ 1. ปริมาณการค้าโลก ลดลงมาอยู่ที่ 4% ส่วน GDP โลก ลดลงเหลือ 2.9% 2. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 6.1 ล้านคน 3. อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 34.25 บาทต่อเหรียญสหรัฐ 4. ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยทั้งปีที่ 110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล 5. อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี ที่ระดับ 0.50-1.00%
นอกจากนี้ยังได้ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยไว้ 4 กรณี คือ 1.กรณีฐาน (Base Case) การปรับให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ไม่ได้ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นจนเกินระดับที่ระบบสาธารณสุขของไทยจะรองรับได้ โดยคาดการณ์ GDP ไว้ที่ 3.1% ซึ่งมีโอกาสจะเป็นไปได้ 60%
2. กรณีที่ดีกว่า (Better Case) ราคาน้ำมันดิบโลกเฉลี่ยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ราว 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และมีผลทำให้อุปสงค์รวมของโลก ทั้งการส่งออก และการท่องเที่ยวฟื้นตัวเร็วขึ้น โดยในกรณี Better Case นี้ คาดการณ์ GDP ไว้ที่ 3.5% ซึ่งมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ 10%
3.กรณีที่แย่กว่า (Worse Case) คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบง.) ทยอยปรับราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น แต่ไม่เกิน 40 บาท/ลิตร ในขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมช่วงที่เหลือของปีนี้ทั้ง 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% โดยในกรณี Worse Case นี้คาดการณ์ GDP ไว้ที่ 2.9% ซึ่งมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ 20%
4. กรณีที่แย่ที่สุด (Worst Case) ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกสูงเกินกว่า 130 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และมีผลทำให้อุปสงค์รวมของโลก ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยวชะลอตัวลงจากกรณีฐาน คาดการณ์ GDP ไว้ที่ 2.3% ซึ่งมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ 10%
อย่างไรก็ตาม กรณีการปรับขึ้นราคาดีเซลทุก 1 บาทต่อลิตรจะมีผลกระทบต่อ GDP ลดลง 0.2% ขณะที่การปรับขึ้นราคาเบนซินทุก 1 บาท/ลิตร มีผลกระทบต่อ GDP ลดลง 0.1% ซึ่งหากขึ้นราคาทั้งดีเซลและเบนซิน รวมกันจะมีผลกระทบต่อ0.3% ต่อปี
รศ.ดร. ธนวรรธน์ กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลัง เมื่อมีการผ่อนคลายเริ่มกลับมาเปิดประเทศ คาดจะทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยช่วงครึ่งปีหลังประมาณ 5 ล้านคน ขณะที่การอนุญาตให้มีกิจกรรมสถานบันเทิงทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 2-3 แสนล้านบาท ประกอบกับมูลค่าการส่งออกปีนี้ ที่คาดจะขยายตัว 6-7% ส่งผลให้ครึ่งหลังปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3.8% จากในช่วงครึ่งปีแรก ที่เติบโต 2.3%