จากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ส่งผลให้ส่วนต่างๆ ของพืชกัญชง กัญชา ได้แก่ ช่อดอก เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก ใบ ไม่ว่าสดหรือแห้ง กากหรือเศษที่เหลือจากการสกัด ไม่มีสถานะเป็นยาเสพติดอีกต่อไป ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้นโยบายเพื่อการเสริมสร้างศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมกัญชง กัญชาให้เติบโตและเข้มแข็ง โดยหาแนวทางสนับสนุน สร้างโอกาสและลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม รวมทั้งพัฒนามาตรฐาน การตรวจสอบรับรองระบบงานและผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับภาคอุตสาหกรรมและคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยให้พิจารณาการทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาปัจจัยสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมกัญชง กัญชาของประเทศ
วันนี้ (จันทร์ที่ 20 มิถุนายน 2565) นายสุชาติ ไตรแสงรุจิระ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เป็นประธานการประชุมรวมพลังหน่วยงานพันธมิตรขับเคลื่อนการบริโภคอาหารจากกัญชง กัญชาให้ปลอดภัย ณ ห้องประชุมอมรินทร์ สถาบันอาหาร โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, กองอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, กรมอนามัย, สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร, ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร, วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต, สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล, วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประทศไทย และสถาบันอาหาร เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มปัญหา ช่องว่างในการดำเนินธุรกิจที่ควรต้องออกมาตรการมารองรับ กำกับ ดูแล ในขณะเดียวกันต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นอันดับแรก
นายสุชาติ ไตรแสงรุจิระ กล่าวว่ากัญชง กัญชาเป็นพืชท้องถิ่น เป็นภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทย และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการดูแลสุขภาพคู่สังคมไทยมายาวนาน ในโอกาสที่ประเทศไทยปลดล็อคพืชกัญชง กัญชาออกจากรายการยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เพื่อให้ใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ นับเป็นโอกาสของประเทศไทยตั้งแต่ระดับเกษตรกรไปจนถึงผู้ส่งออก อย่างไรก็ดี การนำกัญชง กัญชามาใช้ต้องศึกษาข้อมูลวิชาการอย่างถ่องแท้และอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัย สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารผู้ประกอบการต้องมีงานวิจัยและเอกสารวิชาการรองรับ โดยต้องใช้ในปริมาณ (dose) ที่ปลอดภัยต่อการบริโภคและไม่มีโลหะหนักปนเปื้อน จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา เอกชน แลกเปลี่ยนข้อมูลการวิจัยและร่วมมือกันเพื่อให้เดินหน้าขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็ว โดยคำนึงถึงความปลอดภัยผู้บริโภคเป็นสำคัญ เน้นการนำฐานความรู้จากการวิจัยสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้และถ่ายทอดไปสู่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะร้านอาหาร ภัตตาคาร ร้านสตรีทฟู้ดที่นำส่วนต่างๆ ของกัญชง กัญชามาใช้ปรุง ประกอบอาหารและเครื่องดื่มจำหน่าย
นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวถึงวัตถุประสงค์การประชุมหารือร่วมกันครั้งนี้เพื่อหารือแนวทางการบริโภคกัญชง กัญชา อย่างปลอดภัย และการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารและธุรกิจบริการอาหารที่มีกัญชง กัญชา เป็นส่วนประกอบ ที่ผ่านมาสถาบันอาหารดำเนินงานรองรับอุตสาหกรรมและการบริโภคกัญชง กัญชา เพื่อตอบสนองการขับเคลื่อนกัญชง กัญชาในการสร้างเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงด้านความปลอดภัยต่อผู้บริโภค มีการศึกษา วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร อาหารสัตว์ และสารสำคัญในพืชกัญชงเพื่อนำมาพัฒนาสู่ระดับอุตสาหกรรม การให้บริการตรวจวิเคราะห์ปริมาณ THC และ CBD ให้คำปรึกษาการจัดทำ Certificate of Analysis กัญชง กัญชา รวมทั้งจัดหลักสูตรการอบรม อาทิ การสกัดและนำพืชกัญชง กัญชามาใช้ในอาหาร การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม กฎหมายอาหารและการขออนุญาต การศึกษาดูงานสร้างโอกาสทางธุรกิจพืชกัญชง กัญชาในธุรกิจบริการอาหาร อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอางและสุขภาพ
การหารือครั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับความร่วมมือในการให้ข้อมูลวิจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น งานวิจัยรองรับการออกกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์อาหารจากกัญชง กัญชาจากกองอาหาร, งานวิจัยการนำใบกัญชาปรุง ประกอบอาหารเพื่อจัดทำข้อแนะนำสำหรับร้านอาหาร จากกรมอนามัย, ข้อมูลวิจัยปริมาณสาร THC ในอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา จากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และข้อเสนอแนะที่นำไปสู่การสร้างความตระหนัก และการสื่อสารแนวทางบริโภคกัญชง กัญชาอย่างปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงหลักสูตรการฝึกอบรมที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร สตรีทฟู้ด เพื่อการขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจพืชกัญชง กัญชา อย่างยั่งยืนต่อไป