เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 65 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายจีระพัฒน์ พันธุ์ทวี เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ร่วมลงนามใน "บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการพัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงและการกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราวของศาลยุติธรรม" ระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรมและกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือในการปฏิรูประบบการปล่อยชั่วคราวในคดีอาญาจากเดิมที่ต้องใช้เงินหรือทรัพย์สินมาวางต่อศาลเพื่อเป็นหลักประกัน เป็นการใช้ข้อมูลและการประเมินความเสี่ยงตามหลักวิชาการในการปล่อยชั่วคราว
รวมทั้งการแต่งตั้งผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวแทนโดยศาล เพื่อลดการใช้หลักทรัพย์ในการปล่อยชั่วคราว และลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น โดยมี นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายภพ เอครพานิช รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ร่วมกับเป็นพยาน ณ ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ ชั้น 7 สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม เขตจตุจักร
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ขอขอบคุณสำนักงานศาลยุติธรรมที่จัดโครงการนี้ขึ้นมา กรุงเทพมหานครมีนโยบายที่ยืนยันในสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี รวมทั้งเป็นนโยบายลดความเลื่อมล้ำด้วย เนื่องจากหลายคนอาจจะไม่มีหลักทรัพย์ในการจ่ายค่าประกันตัว โครงการนี้จะแต่งตั้งผู้ดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราว ซึ่งกทม.มีชุมชนถึง 2,000 ชุมชน และมีคณะกรรมการ ประธานชุมชนที่มีความรู้จัก ความผูกพันกับคนในชุมชนก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการกำกับดูแลสอดส่องพฤติกรรมได้ เราจะสามารถลดความเลื่อมล้ำ และกระจายอำนาจให้กับชุมชนในการช่วยดูแลกันเอง และประธานชุมชนก็จะให้ความมั่นใจกับศาลในการปล่อยตัวชั่วคราวได้ โดยหลังจากนี้เราจะส่งรายชื่อประธานหรือกรรมการชุมชนที่พร้อมจะเป็นผู้กำกับดูแลกับทางศาลเพื่อพิจารณาแต่งตั้งต่อไป
นายจีระพัฒน์ กล่าวว่า สำนักงานศาลยุติธรรมได้รับความร่วมมือจากกรุงเทพมหานคร ในการทำความตกลงร่วมมือกันในการดูแลประชาชน เพื่อให้ศาลยุติธรรมใช้ดุลพินิจในการสั่งประกันตัวผู้ต้องหาชั่วคราวประชาชนชาวกทม. อย่างละเอียดรอบคอบชัดเจน โดยจะสามารถสั่งปล่อยชั่วคราวได้มากขึ้น และจะลดวงเงินหรือลดหลักประกันพี่น้องผู้ต้องหาหรือจำเลย นอกจากนั้นยังได้รับความร่วมมือในการส่งกรรมการชุมชนมากำกับดูแลผู้ต้องหาภายหลังจากที่ศาลสั่งปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งจะช่วยกันสอดส่องดูแลรับรายงานตัว และให้คำปรึกษาแนะนำกับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ศาลปล่อยชั่วคราวไป เพื่อให้สังคมปลอดภัยให้ชุมชนดูแลคนในชุมชนด้วยกัน สังคม กทม.ก็จะกลับมาปลอดภัยมากขึ้น ประชาชนชาวกทม.จะได้รับสิทธิเสรีภาพเท่าเทียม ในการเข้าถึงการขอปล่อยชั่วคราวจากศาลได้มากขึ้น
“จริงๆ แล้ว กรุงเทพมหานครมีโครงการที่พยายามจะดูแลผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมรวมทั้งผู้ต้องขังด้วย โดยให้ผู้ต้องขังมาทำการขุดลอกท่อระบายน้ำ เพื่อเตรียมตัวกลับสู่สังคมนี่เป็นหนึ่งในโครงการที่จะร่วมมือกันในวันข้างหน้า ต้องขอบคุณสำนักงานศาลยุติธรรม และคิดว่าคงจะมีโครงการดี ๆ ในอนาคตเพื่อร่วมมือกันต่อไป” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว