นายนรินทร์ กัยาณกัยาณมิตร ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ทำให้นักลงทุนต่างชาติเดินทางเข้ามาทำธุรกิจได้สะดวก และกลายเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตของนิคมอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนจากช่วงที่ผ่านมานิคมอุตสาหกรรมในกำกับของ กนอ.ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และจีน
“หลายประเทศเริ่มทยอยเปิดประเทศแล้วจึงเป็นโอกาสดีของนักลงทุน โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงไทยที่ตั้งอยู่จุดที่ได้เปรียบต่อการพัฒนาศักยภาพของประเทศให้เติบโตได้ในหลายด้าน สามารถขนส่งสินค้าได้อย่างสะดวกทั้งทางบกและทางทะเล และการที่มาเลเซียมีนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำยังเป็นโอกาสให้ไทยรับการย้ายฐานการผลิตการลงทุนในพื้นที่ชายแดนไทยมากขึ้น”
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ.กล่าวว่า โครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone : SEZ) เป็นนโยบายของรัฐบาลในการกำหนดพื้นที่เศรษฐกิจใหม่บริเวณชายแดนเพื่อเป็นประตูเศรษฐกิจเชื่อมโยงเพื่อนบ้านเพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งแก้ปัญหาความมั่นคง
โดยพื้นที่ SEZ ถูกจัดตั้งขึ้นในพื้นที่จังหวัดตามชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา มาเลเซีย โดยตั้งอยู่ใน 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย กาญจนบุรี นราธิวาสหนองคาย นครพนม ตราด สงขลา ตาก สระแก้ว และมุกดาหาร
ปัจจุบัน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มีนิคมอุตสาหกรรมที่ดำเนินงานเอง 65 แห่ง โดยมีนิคมอุตสาหกรรมตั้งในพื้นที่ SEZ 3 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมสงขลา ระยะที่ 1 นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว และนิคมอุตสาหกรรมตาก ซึ่ง กนอ.ออกแบบและจัดทำ EIA แล้วเสร็จ คาดว่าเริ่มก่อสร้างปี 2566
สำหรับนิคมอุตสาหกรรมสงขลา (สะเดา) ระยะที่ 1 ปัจจุบันพร้อมรองรับการลงทุน โดยมีพื้นที่ให้เช่า 346.556 ไร่ มีผู้ประกอบการเช่าพื้นที่เพื่อดำเนินธุรกิจแล้ว 3 ราย คิดเป็น 60% เนื้อที่166.89 ไร่ เหลือพื้นที่ให้เช่า 108 ไร่
นอกจากนี้ กนอ. ออกโปรโมชั่นส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสงขลา (สะเดา) ระยะที่ 1 โดยผู้เช่ารายใหม่ ได้รับสิทธิฟรีค่าเช่า 3 ปีแรกนับตั้งแต่วันที่ทำสัญญากับ กนอ.และฟรีค่าบริการรักษาบำรุงสิ่งอำนวยความสะดวก 3 ปีแรก นับจากวันที่ได้รับอนุญาตจาก กนอ. ขณะที่ผู้เช่ารายเดิมได้รับสิทธิฟรีค่าเช่า 3 ปีแรกนับจากวันทำสัญญา ฟรีค่าบริการรักษาบำรุงสิ่งอำนวยความสะดวก 3 ปีแรก นับจากวันที่ได้รับอนุญาตจาก กนอ. และยังได้ส่วนลด 25% ของค่าเช่าที่ดินในปีที่ 4
สำหรับนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ปัจจุบันการก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมรองรับการลงทุนในพื้นที่แล้ว 100% โดยพื้นที่นิคมฯ ถือว่ามีศักยภาพและจุดเด่นที่สามารถรองรับอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้น้ำในกระบวนการผลิต มีอัตราค่าน้ำประปา/น้ำดิบต่ำกว่านิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ และยังมีความได้เปรียบเนื่องจากตั้งอยู่ในแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูง เช่นน้ำยางพาราสด การคมนาคมที่สะดวกเนื่องจากใกล้สนามบินนานาชาติหาดใหญ่
อีกทั้ง กนอ. เตรียมส่งบริษัทลูกด้านสาธารณูปโภคเข้ามาศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโรงไฟฟ้าเพื่อแก้ปัญหาการจ่ายไฟที่ไม่เสถียร และเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน เช่นโซลาร์รูฟท็อป และโซลาร์ลอยน้ำ กำลังผลิตไฟ 20 เมกกะวัตต์ โดยประเมินว่าหากมีการเช่าเต็มพื้นที่จะมีความต้องการใช้ไฟ 70 เมกกะวัตต์
“แม้ภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันจะส่งสัญญาณชะลอตัว โดยเฉพาะด้านการบริโภคเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น แต่ภาคการลงทุนยังมีความเชื่อมั่นว่าจะมีเงินลงทุนไหลเข้าประเทศในครึ่งปีหลัง โดยกนอ. มีแผนจัดโรดโชว์ที่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อชักชวนให้เข้ามาขยายโครงการลงทุนในไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ไฮเทค การแพทย์ ไบโอ และโรงไฟฟ้าพลังงานไฮโดรเจน"