ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
เริ่มแล้วศึกหุ่นยนต์ เวิลด์ โรโบคัพ 2022 ไบเทคบางนา
14 ก.ค. 2565

คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) พร้อมด้วยสหพันธ์โรโบคัพ และบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดฉากการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลกใน "รายการ World RoboCup 2022" โดยมี 45 ชาติ ร่วมนำหุ่นยนต์หลากหลายโซลูชันเข้าร่วมการแข่งขัน และอวดโฉมความอัจฉริยะ รวมถึงยังมีเวทีสำหรับการแสดงผลงานสินค้าสิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมหุ่นยนต์ เริ่มงาน 13 – 17 ก.ค. ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา Hall EH98-100

การจัดการสอดรับกับมาตรการส่งเสริมหุ่นยนต์ในประเทศไทยเพื่อตอบโจทย์กับภาคการลงทุน ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเมืองอัจฉริยะ อาทิ การยกเว้นการเก็บภาษี Capital Gains Tax เป็นเวลา 10 ปี การส่งเสริมหลักสูตรทางด้านสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และเทคโนโลยี การผลักดันผู้ที่มีความสามารถและบุคลากรสมรรถนะสูงเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ประกอบด้วยการแข่งขันทั้งหมด 4 ประเภทหลัก คือ

ส่วนที่ 1 RoboCup Leagues

1. หมวด Major League สำหรับผู้เข้าแข่งขันในกลุ่มอายุ 19 ปี ขึ้นไป โดยจะมีการแข่งขันตั้งแต่วันที่ 13 – 16 ก.ค. 2565 รวมทั้งสิ้นจำนวน 130 รอบการแข่งขัน ประกอบด้วยการแข่งขันทั้งหมด 4 ประเภท คือ 

  • การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ (RoboCupSoccer) 
  • การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย (RoboCupRescue) 
  • การประกวดหุ่นยนต์ในบ้านเพื่อการบริการส่วนบุคคล (RoboCup@Home) 
  • การจัดประกวดหุ่นยนต์และแขนกลเพื่องานอุตสาหกรรม (RoboCupIndustrial) 

2. หมวด Junior League (RCJ) สำหรับเยาวชนอายุ 14 – 19 ปี จำนวน 16 รอบการแข่งขัน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการริเริ่มด้านการศึกษาที่เน้นการสนับสนุนกิจกรรมหุ่นยนต์ตั้งแต่ในระดับท้องถิ่น ตลอดจนถึงระดับนานาชาติสำหรับนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา รวมถึงนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ 

ส่วนที่ 2 Robotics & AI Exhibitions

หนึ่งในเวทีการแสดงผลงานสินค้าในกลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้อิเล็กทรอนิกส์ควบคุม รวมถึงสิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ และระบบอัตโนมัติ โดยภายในงานจะมีบูธสินค้าเทคโนโลยีโรโบติกส์ที่น่าสนใจมาจัดแสดง

อาทิ หุ่นยนต์ส่งยาและเวชภัณฑ์ในโรงพยาบาล หุ่นยนต์ช่วยเหลือการเดิน-ลุก-นั่งสำหรับผู้สูงอายุ เก้าอี้รถเข็นไฟฟ้าขึ้นบันได นวัตกรรมการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ เพื่อจำแนกชนิดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (SARS-CoV-2) ด้วยวิธีวิเคราะห์ High-resolution Melt แบบอัตโนมัติ และสาธิตเทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อการวินิจฉัยทางการแพทย์ทางไกลของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล รวมทั้งข้อมูลด้านนวัตกรรมสำหรับธุรกิจโลจิสติกส์ การพัฒนานิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภคและพลังงาน และดิจิตอลแพลตฟอร์ม 

การให้ข้อมูลเรื่องกลยุทธ์นวัตกรรมของบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รวมถึงการนำเทคโนโลยี 360 องศา เพื่อให้ผู้เข้าชมงานได้เยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ได้จากภายในงาน นอกจากนี้ยังมีการให้ข้อมูลผ่านเทคโนโลยี AI เสมือนจริงอีกด้วย

พร้อมกันนี้ยังพบกับระบบเทคโนโลยีสุดพิเศษจากมูลนิธิเอสซีจี บริษัท ซีเกทเทคโนโลยี (ประเทศไทย) และชุดทดสอบสารเคมีกำจัดแมลงตกค้างในผักและผลไม้ ชุดตรวจสิ่งปนเปื้อนบนวัสดุการแพทย์ รวมถึงนวัตกรรมทางการแพทย์อีกมากมายจากคณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล 

ส่วนที่ 3 Robotics Startup & Pitching

เปิดโอกาสให้กลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่าย ภาคเอกชน นักลงทุน และมหาวิทยาลัยชั้นนำจากทั้งในและต่างประเทศเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์

ส่วนที่ 4 RoboCup Symposium

เวทีการประชุมวิชาการที่เปิดโอกาสให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญ และกลุ่มนักวิชาการระดับโลกได้แลกเปลี่ยนไอเดียใหม่ ๆ ทางด้านเทคโนโลยีโรโบติกส์ต่างๆ ที่น่าสนใจ 

ปีเตอร์ สโตน ประธานสหพันธ์โรโบคัพ เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลกในรายการ World RoboCup จัดขึ้นภายใต้การดำเนินงานของสหพันธ์โรโบคัพนานาชาติ (International RoboCup Federation) ซึ่งเป็นการจัดการแข่งขันวิชาการหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผลักดันการวิจัยและพัฒนาวงการหุ่นยนต์ระดับโลก

โดยเริ่มมีการจัดการแข่งขันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นการแข่งขันครั้งยิ่งใหญ่ที่ยังคงดำเนินการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้ สำหรับการแข่งขันในครั้งนี้ มีผู้ร่วมกิจกรรมไม่ต่ำกว่า 3,000 คน จาก 45 ประเทศทั่วโลก อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ จีน และไทย เป็นต้น โดยผู้เข้ารอบชิงชนะเลิศจะได้รับโล่รางวัลพร้อมประกาศนียบัตรเพื่อเป็นเกียรติคุณ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้เข้าแข่งขันสู่การเข้าถึงโอกาสทางวิชาชีพในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีหุ่นยนต์ได้ในระดับสากล

จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ประธานจัดการแข่งขัน กล่าวว่า การจัดแข่งขัน World RoboCup 2022 มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้น แลกเปลี่ยน และต่อยอดงานวิจัยในด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และระบบอัตโนมัติ รวมทั้งเพื่อสร้างบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในด้าน AI กระตุ้นการพัฒนาบุคลากรภายในประเทศให้เป็นวิศวกรพันธุ์ใหม่ที่สนใจแก้ไขปัญหา ทำงานร่วมกันเป็นทีม รู้จักแลกเปลี่ยนความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีในระดับสากล  

จรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า องค์กรมีบทบาทในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีเป้าหมายสร้างกลุ่มอุตสาหกรรมไฮเทคใหม่ในอุตสาหกรรมอนาคต เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า การบิน พลังงานชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิทัลเพื่อสุขภาพ และโรโบติกส์ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมในประเทศไทย

ดังนั้น การแข่งขันครั้งนี้จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่พร้อมที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนประเทศให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของภูมิภาค และการเติบโตของระบบนิเวศไอซีทีให้มีความแข็งแกร่งและยั่งยืนมากขึ้น

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ 2022.robocupหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมทางเฟซบุ๊ก RoboCup2022   

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...