กระทรวงคมนาคม เดินหน้านำร่องดันภาคเหนือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ หวังเป็นด่านแรกเชื่อมโยงโครงการ อีอีซี เปิดประตูการค้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อาเซียน และอินเดีย
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวในฐานะเป็นตัวแทนรัฐบาลไทยในการจัดสัมมนา ภาคเหนือเตรียมรับอนาคต : The Northern Connect" ที่จังหวัดเชียงรายว่า การสัมมนาครั้งนี้ได้ร่วมกับกงสุลอินเดีย กงสุลใหญ่เมียนมา และกงสุลพาณิชย์จีนระดมความคิด แลกเปลี่ยนความรู้ และมุมมอง ก่อนนำไปสู่การขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลและกระทรวงที่กำหนดไว้ ภายใต้ยุทธศาสตร์ "One Transport :One Development" โดยภาคเหนือตอนบนได้ถูกตั้งความหวังว่าจะเป็นด่านแรกที่ช่วยเปิดประตูแห่งโอกาสเชื่อมโยงโครงข่ายกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อาเซียน และอินเดีย
ทั้งนี้ ภาคเหนือมีศักยภาพสูงในการพัฒนาและเป็นศูนย์กลางกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านจึงเป็นฮับด้านเศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะเมืองหลักอย่างเชียงรายที่มีประชากร ราว 1.2 ล้านคน เชียงใหม่ 1.7 ล้านคนและลำปาง กว่า 7.5 แสนคน โดยเชียงรายมีพื้นที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านบริเวณสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ จัดเป็นประตูเชื่อมโยงการค้า การลงทุน มีด่านการค้าที่สำคัญ และกำลังได้รับการยกระดับให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ นอกจากนั้น ยังสามารถเชื่อมโยงการพัฒนากับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของรัฐบาล หรือ อีอีซีได้อีกด้วยดังนั้นจึงเลือก จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย นำร่อง ก่อนที่จะดำเนินการ จ.ขอนแก่น และ จ.นครราชสีมา ในระยะต่อไป
ใจความตอนหนึ่งนายอาคมได้ชี้ให้เห็นถึงภาคเหนือว่ามีศักยภาพสูงเหมาะแก่การพัฒนาสู่การเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง มีความสมบูรณ์ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ บริการด้านสุขภาพ ด้านการศึกษาการผลิตสินค้าสร้างสรรค์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง การเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ตลอดจนการพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยเป็นศูนย์กลางกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่เชื่อมต่อไปยังจีนและอินเดียได้ง่ายจึงเป็นฮับด้านเศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะเมืองหลักอย่างเชียงรายที่มีประชากรราว 1.2 ล้านคน เชียงใหม่ 1.7ล้านคนและลำปาง กว่า 7.5 แสนคน โดยจังหวัดเชียงรายมีพื้นที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านบริเวณสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจจัดเป็นประตูเชื่อมโยงการค้า มีการลงทุน มีด่านการค้าที่สำคัญ และกำลังได้รับการยกระดับให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังสามารถเชื่อมโยงการพัฒนากับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของรัฐบาล
ดังนั้นในโซนภาคเหนือจึงเลือกจ.เชียงใหม่และจ.เชียงราย นำร่องดำเนินการก่อนที่จะไปเร่งขับเคลื่อนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จ.ขอนแก่น และจ.นครราชสีมา ในระยะต่อเนื่องกันไปโดยเฉพาะการเปิดประตูการค้ากับจีนที่จะผ่านจากเชียงใหม่เชียงรายมายังจ.พิษณุโลกและอีกหลายจังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือผ่านแนวตะวันตกตะวันออก(East-west Economil Cooridor) ได้อย่างครอบคลุม
ปัจจุบันโครงข่ายสำคัญที่มีใช้งานอยู่แล้วคือ เส้นทาง R3A เชื่อมจากภาคตะวันตกของจีนผ่านสปป.ลาวมายังประเทศไทยระยะทาง 1,887 กิโลเมตร แต่ในการสัมมนาครั้งนี้นายอาคมได้คัดเลือกโครงการสำคัญเพื่อเป็นโมเดลไปขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศประกอบด้วยโครงการตามแผนปฏิบัติการลงทุนด้านคมนาคม พ.ศ.2560 คือ โครงการศูนย์ขนส่งสินค้าเชียงของ มูลค่า 2,365 ล้านบาทที่ล่าสุดกรมการขนส่งทางบกได้ประกาศขายเอกสารประกวดราคาหาผู้รับจ้างก่อสร้างระยะที่ 1 ไปแล้วเมื่อปลายปี 2559 ที่ผ่านมาและอยู่ระหว่างการชี้แจงความคิดเห็นของกลุ่มนักธุรกิจผู้สนใจประมูลโครงการดังกล่าว
นอกจากนั้นยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและการศึกษาความเหมาะสมอีกหลายโครงการ ประกอบด้วยการขยายทางหลวงหมายเลข 12 สายแม่สอด-ตาก ให้เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 76.13 กิโลเมตร ใช้งบประมาณราว 7,000 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างโดยกำหนดแล้วเสร็จในปี 2561 นี้
โครงการก่อสร้างถนนทางเลี่ยงเมืองแม่สอดและสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 เชื่อมอ.แม่สอด จ.ตาก กับจ.เมียวดี(เมียนมา) ระยะทาง 21.40 กิโลเมตร จัดเป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกของรัฐบาลใช้งบราว 3,900 ล้านบาทคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในเดือนเมษายน 2562 นี้
โครงการมอเตอร์เวย์สายแม่สอด-ตาก ระยะทาง 80 กิโลเมตรแนวเส้นทางใหม่เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดและการค้าขายแดนเชื่อมกับเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี(เมียนมา) กำหนดศึกษาแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2561 คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1.5-2 หมื่นล้านบาท
โครงการมอเตอร์เวย์ เส้นทางเชียงใหม่-เชียงราย เส้นทางนี้ครอบคลุมจังหวัด เชียงใหม่ พะเยา และเชียงรายช่วยร่นระยะเวลาการเดินทางจากเชียงใหม่-เชียงรายไม่ถึง 2 ชั่วโมง ระยะทาง 185 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้งบกว่า 1แสนล้านบาท ใช้ระยะเวลาการศึกษาความเหมาะสมจำนวน 18 เดือน
นอกจากนั้นยังมีโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตรกำหนดจัดประกวดราคาในเดือนพฤษภาคม-ตุลาคมนี้ วงเงินกว่า 6.2 หมื่นล้านบาท ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189กิโลเมตร วงเงินกว่า 5.9 หมื่นล้านบาทกำหนดจัดประกวดราคาในเดือนกรกฎาคม-ธันวาคมนี้ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย- เชียงของระยะทาง 325 กิโลเมตร วงเงินกว่า 7.6 หมื่นล้านบาทคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรีในเดือนมิถุนายน 2560 นี้และโครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพ-เชียงใหม่(ช่วงกรุงเทพ- พิษณุโลก) มูลค่า 2.24แสนล้านบาทอยู่ระหว่างฝ่ายญี่ปุ่นส่งรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมให้ฝ่ายไทยในเดือนมิถุนายนนี้เช่นกัน
สำหรับการพัฒนาทางน้ำได้ปัจจุบันมีการพัฒนาท่าเรือเชียงแสนและท่าเรือเชียงของรองรับไว้แล้วเช่นเดียวกับแผนการพัฒนาทางอากาศได้มีโครงการปรับปรุงสนามบินแม่สอดเพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องคาดว่าจะปรับปรุงแล้วเสร็จในปีหน้าโดยใช้งบประมาณราว 1,500 ล้านบาท
ทั้งนี้นอกเหนือจากโครงการที่กล่าวมาแล้วยังมีโครงการที่กำลังพัฒนาและโครงการจัดอยู่ในแผนงานหรือโครงการตามข้อเสนอของท้องถิ่นอีกหลายโครงการ อาทิ โครงการบริหารจัดการด่านชายแดน โครงการขยายท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่โครงการพัฒนาสนามบินแห่งใหม่ที่จังหวัดลำปางและลำพูนซึ่งกระทรวงคมนาคมและรัฐบาลมีแผนเร่งดำเนินการในระยะต่อไปโดยแต่ละโครงการจะเปิดโอกาสให้นักลงทุนในพื้นที่นั้นๆได้เข้ามามีส่วนร่วมลงทุนได้มากขึ้น