การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) โรดโชว์ญี่ปุ่นครั้งแรกหลังสถานการณ์โควิด-19 เน้นเจาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-Curve และกลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพ หวังดึงลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมไทย เดินสายหารือบริษัทชั้นนำรายใหญ่ของญี่ปุ่นในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ พลังงานสะอาดในภาคอุตสาหกรรม ตอกย้ำความเป็นพันธมิตร “life-long Partnership"
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 14-17 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา กนอ.ได้จัดโรดโชว์ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น พร้อมคณะของ นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เป็นหัวหน้าคณะสำหรับการเดินทางในครั้งนี้ โดยเป้าหมายสำคัญของ กนอ.คือ การชักชวนนักลงทุนญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve รวมทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพ (BCG ) ซึ่งการเดินทางครั้งนี้ถือว่าเป็นการโรดโชว์ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การระบาดของโควิด-19
โดยในการจัดกิจกรรมประชุม Round Table กนอ.ได้นำเสนอภาพการลงทุนในประเทศไทย ความพร้อมการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานหลักของประเทศไทย ทั้งรถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น รวมถึงความพร้อมของนิคมอุตสาหกรรมที่สามารถรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-Curve โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ สำหรับการลงทุนหรือขยายการลงทุนในประเทศไทย หรือในผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่บริษัทญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญ
“ที่ผ่านมาผมตั้งใจว่า ถ้ามีโอกาสจะต้องมาประเทศญี่ปุ่นเพื่อพบปะนักลงทุนทุกท่าน ซึ่งช่วงที่ไม่สามารถเดินทางได้เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 นั้น มีโอกาสได้พบปะกับผู้แทนองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan External Trade Organization: JETRO Bangkok) และหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) รวมถึงนักลงทุนชาวญี่ปุ่นกลุ่มต่างๆ ที่ลงทุนอยู่ในประเทศไทย โดยการลงทุนทั้งของไทยและญี่ปุ่นนั้น เชื่อว่าทั้งสองประเทศมีแนวทางไปในทิศทางเดียวกัน คือ life-long Partnership หรือพันธมิตรที่ยั่งยืน ทั้งนี้ มีกลุ่มนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นที่ลงทุนอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมากที่สุดถึง 37% โดยหลักๆ เป็นรถยนต์และชิ้นส่วน นอกนั้นเป็นเหล็กและโลหะ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับเคมี ดิจิตอล อาหาร และอื่นๆ” นายวีริศ กล่าว
นายวีริศ กล่าวด้วยว่า สิ่งแรกที่ กนอ.แจ้งให้นักลงทุนญี่ปุ่นได้รับทราบคือ ข้อดีของการลงทุนกับ กนอ.นั้น กนอ.สามารถช่วยประสานงานขอเอกสารต่างๆ ได้ในที่เดียว ซึ่งที่ผ่านมานักลงทุนหลายชาติต่างชื่นชมว่า การลงทุนกับ กนอ.จะมีประสิทธิภาพที่ครบถ้วนและสมบูรณ์ นอกจากเรื่องของความสะดวกรวดเร็วแล้ว กนอ.ยังร่วมมือกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี การขออนุมัติอนุญาตให้คนเข้ามาทำงานในประเทศ ขณะเดียวกันในปัจจุบันการลงทุนกับ กนอ.และขอรับการสนับสนุนจาก BOI อาจจะได้รับการยกเว้นภาษีสูงถึง 10 ปี และจากนั้นก็อาจจะขอลดลงได้อีก 50% โดย บริษัท Daikin ได้ระบุว่า บริษัทมีความสนใจที่จะหาพื้นที่ในประเทศไทยเพื่อทำ R&D center รองรับตลาดเอเชีย ซึ่งกนอ.ยินดีที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดการพัฒนาในประเทศไทย
“ปัจจุบันไทย-ญี่ปุ่น มีเป้าหมายเดียวกันคือ เรื่องของการใช้พลังงานทดแทน หรือเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งเรื่องนี้ก็สามารถใช้ลดภาษีเพิ่มเติมได้ โดยเฉพาะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม Smart Park ที่มีพื้นที่ประมาณ 625 ไร่ โดย กนอ.ตั้งเป้าให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ลดการใช้พลังงานอย่างแท้จริง ซึ่งอุตสาหกรรมที่ กนอ.ให้ความสนใจ คือ หุ่นยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร EV และอุตสาหกรรมยา รวมถึงโลจิสติกส์ ทั้งนี้ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในอีก 1 ปีครึ่งข้างหน้า ปัจจุบันมีผู้จองพื้นที่บ้างแล้ว ดังนั้น หากนักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจเข้าดูพื้นที่ สามารถแจ้งมายัง กนอ.ได้ทันที นอกจากนี้ เรายังนำเสนอให้นักลงทุนญี่ปุ่นได้ทราบถึงความพร้อมของนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว และนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ซี่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน(SEZ) ด้วย โดยทั้ง 2 นิคมฯ ดังกล่าวก่อสร้างเสร็จแล้ว พร้อมรับการลงทุน 100%”นายวีริศ กล่าว
สำหรับการโรดโชว์ ณ ประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ นอกจากจัดกิจกรรมประชุม Round Table ร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรม New S-Curve และกลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพรายใหญ่ของญี่ปุ่น จำนวน 30 ราย เพื่อชักชวนให้มาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีโอกาสเข้าพบ Mr. Takehiko Matsuo Director General, Trade Policy Bureau ณ Ministry of Economy, Trade and Industry หรือ METI เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและญี่ปุ่น โดยมุ่งเน้นด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลและการสนับสนุนแรงงานที่มีทักษะ (skilled worker) ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั้งไทยและญี่ปุ่น รวมถึงการหารือด้านการใช้พลังงานสะอาดในภาคอุตสาหกรรม อาทิ การใช้พลังงานจาก Hydrogen ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ กนอ. ที่ตั้งเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรมให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) อีกด้วย