พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยในที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ว่าได้มีการหารือถึงแนวทางการเร่งรัดการดำเนินโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ประกอบด้วยจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ที่ไม่สามารถรอร่างพระราชบัญญัติพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ... เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอยู่ระหว่างฟังความเห็นของประชาชนผ่านเว็ปไซต์ ตามรัฐธรรมนูญ ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาสภาพนิติบัญญัติแห่งชาติ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี จึงได้ใช้อำนาจ ตามมาตรา 44 แก้ไขปัญหา 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1.การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA โดยอนุมัติให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการเพื่อมาพิจารณาการทำ EIA โดยเฉพาะโครงการภายใต้การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ไม่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนเดิมจะช่วยลดระยะเวลาลงได้ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม จะกำหนดเรียกค่าธรรมเนียมพิเศษ โดยการพิจารณาจะต้องแล้วเสร็จไม่เกิน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่ได้รับ EIA 2. กระบวนการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ PPP ซึ่งปัจจุบันจะใช้เวลาอย่างน้อย 8-9 เดือน ดังนั้นเพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการจึงให้นายกรัฐมนตรีสามารถพิจารณาอนุมัติโครงการตามมาตรฐานการร่วมทุนได้เป็นการพิเศษ และสุดท้าย ให้หน่วยซ่อมอากาศยานมีคุณสมบัติที่เหมาะสมตามลักษณะการลงทุน ซึ่งเดิมกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตซ่อมต้องมีสัญชาติไทย หรือมีคนไทยถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 แต่บริษัทที่มีเทคโนโลยีสูงและมีสิทธิบัตรไม่ยอมลงทุน จึงปรับปรุงลักษณะของผู้ได้รับใบรับรองในเขตอีอีซีเป็นพิเศษ โดยไม่ต้องดำเนินตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ เพื่อให้การขับเคลื่อน EEC เป็นไปด้วยความรวดเร็ว