กระทรวงพาณิชย์ สหรัฐ เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2 ปีนี้ของสหรัฐฯหดตัว 0.9% เป็นการหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 ที่จีดีพีหดตัว 1.6% การที่เศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ทำให้สหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) เป็นที่เรียบร้อย
นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการจัดการสำหรับนักบริหาร ระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่าการที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯถดถอยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่มีการขึ้นดอกเบี้ยในระดับ 0.75% ต่อเนื่องกัน 2 ครั้ง เพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯในเดือนที่ผ่านมาที่สูงถึง 9.1% หรือสูงสุดในรอบ 40 ปี โดยในปีนี้สหรัฐฯจะยังขึ้นดอกเบี้นต่อเนื่อง
คาดว่าในการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือของปีน่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยรวมกันอีกอย่างน้อยอีก 1% ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯที่อยู่ที่ระดับ 2.25 - 2.5% ในปัจจุบันเพิ่มเป็น 3.25 - 3.5% จากนั้นคาดว่าเฟดจะดูตัวเลขเงินเฟ้อว่าปรับตัวลดลงหรือไม่หากไม่ปรับลดลงก็ต้องมีการใช้ยาแรงในการขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกแม้จะทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯถดถอยก็ตาม
รัสเซียจ่อลดส่งออกน้ำมัน 30%ดันเงินเฟ้อสหรัฐฯพุ่ง
ทั้งนี้ การที่สหรัฐฯต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแบบรุนแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อส่วนหนึ่งก็มาจากการตอบโต้มาตรการการคว่ำบาตรรัสเซียของสหรัฐฯ โดยรัสเซียนั้นรู้ดีว่าหากสามารถจัดการลดอุปทานน้ำมันโดยจำกัดการส่งออกน้ำมันและก๊าซก็จะทำให้ราคาพลังงานพุุ่งสูงขึ้น และไปกระทบกับเงินเฟ้อในสหรัฐฯ อย่างมากจนในที่สุดเฟดต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยจนเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เองเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แม้ในระยะสั้นราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับลดลงแต่ในระยะต่อไปราคาน้ำมันและพลังงานจะยังคงทรงตัวในระดับสูงต่อไปเนื่องจากรัสเซียประกาศว่าจะลดการส่งออกน้ำมันในสัดส่วน 30% ทำให้ปริมาณน้ำมันที่ออกมาขายในตลาดโลกตรึงตัวขณะที่การเจรจาของประธานาธิบดี โจ ไบเดน กับซาอุดีอารเบียให้ช่วยเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันแต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับจากซาอุฯว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตให้หรือไม่
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นของสหรัฐฯ จนดอกเบี้ยของสหรัฐฯ นั้นมีส่วนต่างของดอกเบี้ยมากระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ทำให้เกิดการเข้ามาเกร็งกำไรและหาประโยชน์จากความแตกต่างของดอกเบี้ย
ห่วงบางอ่อนแตะ 38 บาท/ดอลลาร์
โดยการประชุมคณะกรรมการนโนบายการเงิน (กนง.) ของไทยกว่าจะมีการประชุมคือในวันที่ 10 ส.ค. คาดว่าค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้ามีสิทธิ์ที่จะอ่อนค่าลงไปถึง 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ การที่ค่าเงินบาทอ่อนแม้จะมีผลดีกับภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว แต่ก็มีผลเสียในเรื่องของสินค้านำเข้าที่ต้องใช้เงินบาทมากขึ้นในการไปซื้อสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของผลกระทบจากการนำเข้าน้ำมันที่เราต้องใช้เงินบาทมากขึ้นในการแลกเป็นเงินดอลลาร์เพื่อนำเข้าน้ำมัน
แนะภาครัฐจริงจังส่งเสริมประหยัดพลังงาน
นายมนตรี กล่าวว่าสถานการณ์แบบในปัจจุบันที่ราคาน้ำมัน และก๊าซจะอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกนานจากการตอบโต้ของรัสเซียที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯชะงัก จากราคาพลังงานที่สูง และเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ ส่งเสริมการประหยัดพลังงาน เพราะเรื่องของการใช้น้ำมันถ้ายังปล่อยให้มีการใช้น้ำมันอย่างสิ้นเปลืองโดยไม่มีการรณรงค์ หรือมีข้อกำหนดให้ใช้น้ำมันอย่างประหยัด
เท่ากับว่าเราต้องสูญเสียเงินตรามากขึ้นในการนำเข้าน้ำมันจากในต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเงินบาทอ่อนค่าแบบนี้ก็จะทำให้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมีมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลต้องสื่อสารและบอกข้อมูลกับประชาชนเพราะประเทศเราต้องนำเข้าน้ำมันถึง 86% ของการใช้น้ำมันในแต่ละวัน และผลิตในประเทศได้เพียง 14% เท่านั้น
ชี้ห่วงกัญชาเสรีกระทบภาคท่องเที่ยว
ในส่วนของภาคการท่องเที่ยว เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้มีรายได้จากการจับจ่ายและจ้างงานในประเทศ แต่ในปัจจุบันนั้นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าไทยยังไม่มากนักเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด รัฐบาลต้องทำหน้าที่ในการเชิญชวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวใช้จ่ายในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาคท่องเที่ยวส่วนที่น่าเป็นห่วงคือนโยบายกัญชาเสรี ที่ไม่ได้กำหนดให้ใช้เฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น แต่มีการเปิดเสรีโดยทั่วไป ซึ่งบางประเทศมีข้อจำกัดและเข้มงวดมากในเรื่องของกัญชา เช่น ประเทศจีน
หากประเทศไทยใช้นโยบายกัญชาเสรีโดยทั่วไป ก็อาจเสี่ยงให้นักท่องเที่ยวจีนที่คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 25% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เคยมาไทยก่อนโควิด-19 ไม่เข้ามาประเทศไทยอีก เพราะกลัวจะมีปัญหากับทางการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาครัฐควรทบทวนเรื่องนี้ให้รอบครอบก่อนที่จีนจะเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวออกนอกประเทศได้ในช่วงต้นปีหรือกลางปีหน้า