ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
กพร. ลงนาม เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ รับเงื่อนไขเพิ่มเติมตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อม
30 ก.ค. 2565

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 เวลา 15.30 น. นายนิรันดร์  ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ลงนามในบันทึกข้อตกลง “ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการและเงื่อนไขตามที่กฎหมายและสัญญากำหนดไว้และเงื่อนไขที่กำหนดเพิ่มเติมเป็นเงื่อนไขในประทานบัตร” ระหว่างกรมอุตสาหกรรมพื้นฐาน

และการเหมืองแร่ และ บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยมีนายวรวุฒิ  หิรัญยไพศาลสกุล ผู้จัดการใหญ่ บริษัทฯ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง และมีนายสกล  จุลาภา รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ พร้อมด้วยนายไพโรจน์  โพธาภรณ์ ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรม ร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน พร้อมด้วยผู้บริหารกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ณ ศูนย์เผยแพร่ความรู้และให้บริการ ชั้น 1 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่

การลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 รับทราบผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี และให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายให้เกิดความโปร่งใส และกำกับดูแลผู้ประกอบการให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการ ต่อมาคณะกรรมการแร่ได้ให้ความเห็นชอบในการอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่โพแทช จำนวน 4 แปลง ของบริษัทฯ ในจังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 พร้อมทั้งได้กำหนดเงื่อนไขและมาตรการเพิ่มเติมให้ผู้ถือประทานบัตรต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยได้มีการกำหนดกองทุนเพื่อการดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม จำนวน 11 กองทุน เป็นเงินกว่า 3,500 ล้านบาทตลอดอายุโครงการ และให้มีคณะทำงานร่วมตรวจสอบกำกับดูแลการทำเหมือง ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และผู้เชี่ยวชาญที่เป็นผู้แทนจากผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งบริษัทฯ ต้องจัดทำประกันภัยความรับผิดต่อชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลภายนอก และวางหลักประกันการฟื้นฟูสภาพพื้นที่การทำเหมืองและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง 

ในการนี้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้กำชับให้บริษัทฯ ประกอบกิจการให้เป็นไปตามกฎหมายแร่และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขสิ่งแวดล้อมที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการในการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้ให้ความเห็นชอบ 
เช่น มาตรการป้องกันผลกระทบจากฝุ่นเกลือ กองเกลือ น้ำเค็ม และการลดระดับของผิวดินที่กำหนดเพื่อป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมและความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ รวมถึงให้ความสำคัญกับการดูแลชุมชนและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ 

สำหรับการอนุญาตประทานบัตรดังกล่าวข้างต้น เป็นไปเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมของไทยให้มีวัตถุดิบแร่โพแทชเพื่อทดแทนการนำเข้า แก้ปัญหาการขาดแคลนปุ๋ยและปุ๋ยแพงในปัจจุบันและช่วยลดต้นทุนภาคเกษตรกรรมในระยะยาว ช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ และยกระดับรายได้ ตลอดจนคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนบริเวณใกล้เคียงให้ดีขึ้น ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองจากสถานการณ์โรคระบาด ทั้งนี้ บริษัทฯ ต้องดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนด้วย เพื่อให้การประกอบกิจการได้รับการยอมรับและสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและสังคมได้อย่างยั่งยืนต่อไป

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...