เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ณ ศาลาดนตรีสุริยเทพ มหาวิทยาลัยรังสิต อ.เมือง จ.ปทุมธานี มหาวิทยาลัยรังสิต และ ตำรวจภูธรภาค 1 ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือ ด้านวิชาการ งานการพัฒนานวัตกรรมและการมีส่วนร่วมในการป้องกันอาชญากรรมภายในงานมีการให้ความรู้ในเรื่องของอาชญากรรมและภัยคุกคามทางไซเบอร์ พร้อมเปิดตัวโครงการ “Cyber Team Heroes” สร้าง เยาวชนไทยรุ่นใหม่ตระหนักถึงปัญหาของภัยคุกคามทางไซเบอร์รูปแบบใหม่ เพื่อป้องกันตัวเองจากการตกเป็นเหยื่อ
ดร.อรรถวิท อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า “มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นสถาบันการศึกษาที่มีนักศึกษาจำนวนมากและนักศึกษาบางกลุ่มมีแนวโน้มในการได้รับภัยคุกคามจากอาชญากรรมทางไซเบอร์จากกลุ่มมิจฉาชีพที่มาในหลายรูปแบบมหาวิทยาลัยรังสิต ได้เล็งเห็นปัญหา และมีนโยบายที่ต้องการสร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องภัยทางไซเบอร์ให้แก่นักศึกษา เพื่อป้องกันตัวเองจากการตกเป็นผู้เสียหาย ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยยังต้องการชุดความรู้ในเรื่องของ ขั้นตอนการปฏิบัติต่างๆ หากเกิดเหตุกับตัวนักศึกษาเพื่อให้นักศึกษามีความเข้าใจที่ถูกต้อง ในการป้องกันตนเองรวมถึงการนำไปถ่ายทอดต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นการป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์ให้กับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว ชุมชน และสังคม
ทั้งนี้โครงการ “Cyber Team Heroes” โดยตำรวจภูธรภาค 1 จะเข้ามาบูรณาการความร่วมมือระหว่างสององค์กร โดยนำจุดเด่นในด้านองค์ความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ของทั้งสององค์กร มาพัฒนาร่วมกันในด้านวิชาการ งานวิจัย การพัฒนา นวัตกรรมต่างๆที่มี ส่วนร่วมในการป้องกันอาชญากรรม”
ด้าน พล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 กล่าวว่า “ด้วยปัจจุบัน อาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นภัยรูปแบบใหม่ที่กำลังทวีความรุนแรงและแผ่ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น อันเนื่องมาจากที่ประเทศไทยของเรามีระบบการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ซึ่งมุมหนึ่งเทคโนโลยีเป็นประโยชน์ และทำให้เราเท่าทันโลกยุคดิจิตอล แต่อีกมุมหนึ่งการที่กลุ่มเยาวชน นักศึกษา และประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้งานผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆได้โดยง่าย ผ่านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์โทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นๆก็ตาม แต่ขาดความรู้ภูมิคุ้มกันในการป้องกันภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่เชื่อว่าทุกคนยังมีไม่เพียงพอ และไม่ทั่วถึง จึงทำให้เกิดช่องทางของมิจฉาชีพ ในการแสวงหาผลประโยชน์ โดยอาศัยกลวิธีและทักษะความรู้ทางเทคโนโลยที่เชี่ยวชาญ ทำให้ตกเป็นผู้เสียหายในหลากหลายรูปแบบด้วยกัน การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทาง เทคโนโลยีของภาครัฐถึงแม้ให้มีการปราบปรามอย่างจริงจังมาโดยตลอด แต่การเกิดเหตุอาชญากรรม ทางเทคโนโลยีก็ย้งคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้นทางตำรวจภูธรภาค1 เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงเกิดแนวความคิดในการบูรณาการการทำงานร่วมกัน นักศึกษาสถาบันการศึกษาเพื่อให้เยาวชนไทย นักศึกษาและประชาชนได้มีความรู้ ตระหนักถึงปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตำรวจภูธรภาค 1 ได้จัดโครงการ “ฝึกอบรมอาสาสมัครเยาวชนคนรุ่นใหม่ ป้องกันภัยทางไซเบอร์” (Cyber Team Heroes) เพื่อเป็นการสร้างช่องทางการประชาสัมพันธ์การเผยแพร่ข้อมูลขยายเครือข่ายอาสาสมัคร ผ่านนักศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความรู้และทักษะในการใช้เทคโนโลยีที่ดีและเป็นกลุ่มที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเสี่ยงที่อาจตกเป็นผู้เสียหาย เช่น กลุ่มผู้สูงอายุในครอบครัวและคนในชุมชนได้ โดยมีการตั้งเป้าหมายเพื่อสร้างเยาวชนไทย รู้เท่าทันภัย และเป็นการตัดช่องทางของกลุ่มมิจฉาชีพที่แสวงหาผลประโยชน์ผ่านอาชญากรรมทางเทคโนโลยีรูปแบบต่างๆ”
สมเกียรติ ทรัพย์เฉลิม / หน.ข่าวภูมิภาค