ศาลปกครองเพชรบุรี ได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับคดีให้ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และตำแหน่งสุดท้ายก่อนถูกปลดออกจากราชการคือ ผู้อำนวยการสำนัก สังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กลับเข้ารับราชการไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
หลังก่อนหน้านี้คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีมติปลดชัยวัฒน์ออกจากราชการ หลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ชี้มูลความผิด ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญา โดยการเผาทำลายทรัพย์สินของชาวบ้านบางกลอยในป่าแก่งกระจาน
โดยคำสั่งของศาลระบุใจความสำคัญว่า คำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ 132/2564 ลงวันที่ 2 เมษายน 2564 ที่ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ อันสืบเนื่องมาจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้มีมติชี้มูลดังกล่าว โดยไม่ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ก่อนออกคำสั่งดังกล่าว จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่า คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อีกทั้งการให้คำสั่งดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไป ย่อมมีผลให้ผู้ฟ้องคดีต้องพ้นจากการเป็นข้าราชการสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งนอกจากผู้ฟ้องคดี (ชัยวัฒน์) จะได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการไม่ได้รับเงินเดือน สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการต่างๆ ตามสิทธิที่พึงมีพึงได้ในฐานะข้าราชการพลเรือนแล้ว ผู้ฟ้องคดียังต้องขาดโอกาสและความเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ราชการ
ซึ่งขณะยื่นคำฟ้องนี้ผู้ฟ้องคดียังเหลือระยะเวลารับราชการได้อีกไม่เกิน 2 ปีเท่านั้น หากศาลได้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่พิพาทในภายหลัง ผู้ฟ้องคดีอาจไม่มีโอกาสได้กลับเข้ารับราชการอีก และในระหว่างการพิจารณาคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อาจดำเนินการสรรหาบุคคลอื่นมาดำรงตำแหน่งทดแทนผู้ฟ้องคดี
กรณีนี้จึงเป็นความเดือดร้อนเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จะได้โต้แย้งคัดค้านว่า หากภายหลังศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการแล้ว ผู้ฟ้องคดีสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้นั้น เห็นว่าค่าเสียหายที่เป็นตัวเงินย่อมไม่อาจเทียบได้กับเกียรติยศ ชื่อเสียง และความก้าวหน้าในชีวิตราชการของผู้ฟ้องคดีที่ต้องสูญเสียไปเพราะการออกคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดังกล่าว ประกอบกับคำชี้แจงของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ชี้แจงว่าได้มีคำสั่งที่ 439/2564 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2564 แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (วิชาการป่าไม้)) ระดับสูง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 ไปแล้ว อัน
เป็นการชี้ให้เห็นว่า ตำแหน่งที่ผู้ฟ้องคดีดำรงอยู่นั้นมีความสำคัญต่อหน้าที่ตามกฎหมายเกี่ยวกับการรักษา คุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติของประเทศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่อาจให้ตำแหน่งดังกล่าวว่างลงเป็นระยะเวลายาวนานได้
อีกทั้งผู้ฟ้องคดีได้ชี้แจงว่า ขณะดำรงตำแหน่งดังกล่าวผู้ฟ้องคดีได้ปฏิบัติหน้าที่ในการจับกุมและปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้จำนวน 474 คดี ซึ่งแล้วเสร็จ 64 คดี และยังมีคดีที่ยังไม่สิ้นสุดอีก 386 คดี ที่ผู้ฟ้องคดีอาจต้องไปเป็นพยานในชั้นพิจารณาคดีของศาลด้วยตนเอง
กรณีนี้จึงเห็นได้ว่า ผู้ฟ้องคดียังคงมีหน้าที่อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ภารกิจของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 สำเร็จลุล่วงด้วยดี
ดังนั้น การให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่พิพาทโดยให้ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการระดับสูง) สังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ต่อไปเป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่นนั้น ย่อมเป็นประโยชน์แก่การบริหารงานหรือบริการสาธารณะของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และมิได้เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ หรือการบริการสาธารณะของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 แต่อย่างใด
กรณีนี้จึงมีเหตุอันสมควรที่ศาลปกครองจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 132/2564 ลงวันที่ 2 เมษายน 2564 ที่ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
จึงมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ 132/2564 ลงวันที่ 2 เมษายน 2564 ที่ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น.