ดร.ชนินทร์ มโนภินิเวส นักเศรษฐศาสตร์โครงสร้างพื้นฐาน ภูมิภาคเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก ประจำธนาคาร โลกประจำประเทศไทย กล่าวในเวทีการประชุมผู้เชี่ยวชาญ เพื่อแสวงหาแนวทางการยกระดับความมั่นคงและพัฒนาคุณภาพชีวิตชายแดน ซึ่งหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมจัดขึ้น โดยระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ทำให้มีการค้าขายภายในแต่ละในภูมิภาคมากขึ้น ทำให้โครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ชายแดนเป็นการลงทุนที่ดีในการเชื่อมโยงการขนส่งผ่านแดน
ตัวอย่างของการเชื่อมด้วยรถไฟความเร็วสูง ที่ สปป.ลาวและจีนทำและจะมาเชื่อมกับไทยถือว่าช่วยเรื่องการขนส่งได้ เนื่องจากปัจจุบันการค้าขายระหว่างอาเซียน และจีนกว่า 95% ของสินค้าจากอาเซียนที่ส่งไปขายที่จีนยังใช้เส้นทางขนส่งทางน้ำ เมื่อมีรถไฟความเร็วสูงเข้ามาทำให้มีช่องทางในการส่งสินค้าไปทางตอนใต้ของจีนได้รวดเร็วขึ้น
อย่างไรก็ตามจะต้องดูในเรื่องของต้นทุน และประสิทธิภาพการขนส่งด้วย โดยประสิทธิภาพของการขนส่งสินค้าข้ามแดนบางส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของกฎหมาย และกฎระเบียบการขนส่งสินค้าข้ามแดน เพราะบางครั้งปัญหา และอุปสรรคเกิดขึ้นในส่วนของกฎระเบียบของแต่ละประเทศที่มีความแตกต่างกันด้วย
“ในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ แต่ละประเทศจำเป็นต้องมีการหารือกันถึงความร่วมมือกันให้ชัดเจน เพราะปัจจุบันเราเห็นประเทศในระเบียงเศรษฐกิจเดียวกันประกาศว่าจะเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) กันหมด ก็ย่อมทำให้ระเบียงเศรษฐกิจหมดความหมายไป เช่น การเชื่อมโยงจากไทย สปป.ลาว ไปยังเวียดนามจะเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันได้มากขึ้น เมื่อคำนึงถึงเรื่องความเข้าใจอันดี ความสมดุล ความเป็นธรรม และความเป็นมิตรที่ดีต่อกันมากขึ้น”
พลเอกสุรสิทธิ์ ถนัดทาง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ระบุว่า พื้นที่ชายแดนนั้นมีศักยภาพที่สามารถยกระดับให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจหลักได้ เห็นได้จากมูลค่าการค้าชายแดนที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนทางภาคใต้ที่สามารถเชื่อมโยงไปไกลตั้งแต่มาเลเซีย สิงคโปร์ จนถึงอินโดนีเซีย ขณะเดียวกันในชายแดนทางด้านจังหวัดหนองคาย กำลังตื่นตัวอย่างมากกับการที่ประเทศลาวมีรถไฟฟ้าความเร็วสูง
“แม่น้ำโขง เดิมทีไม่ใช่เส้นกั้นพรมแดน แต่เป็นเส้นทางที่ไทยและประเทศเพื่อนบ้านใช้ร่วมกัน พอเป็นเส้นแบ่งวิธีคิดก็เปลี่ยนไป ต้องเปลี่ยนทัศนคติเดิมให้หมดไป แล้วมาสร้างความรู้มาแลกเปลี่ยนกัน ทุกประเทศต้องร่วมมือกันทำสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา เป็นเศรษฐกิจสังคมร่วมกัน และต้องเป็นอย่างนี้ในทุก ๆ พื้นที่ชายแดนด้วย ”
นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ กล่าวว่าการสร้างความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญ เช่นในกรณีโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง(GMS) ทำให้เกิดเป็นระเบียงเศรษฐกิจของแม่น้ำโขงในเชียงราย ซึ่งในระยะต้นจังหวัดอื่น ๆก็เห็นว่าเป็นเรื่องของเชียงรายเท่านั้น แต่ปัจจุบันจังหวัดภาคเหนือเกิดความเข้าใจและเห็นประโยชน์ร่วมกันแล้ว
“ตอนแรกก็ไม่ค่อยได้รับความสนใจ อย่างลำพูน มีนิคมอุตสาหกรรมก็สามารถมองได้ว่าสินค้าจากโรงงานจะเข้าตลาด GMS ได้อย่างไร จึงเกิดการมองแบบภูมิภาคขึ้นมา”
นายพัฒนายังกล่าวด้วยว่า ตั้งแต่อดีตปัญหาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนก็คือ เรื่องของจุดผ่านแดน เพราะมักจะเน้นการลงทุนโครงสร้างของด่านผ่านแดน ขณะที่กฎระเบียบการผ่านแดนนั้นถือว่ายังมีข้อจำกัดอยู่มาก ตามนโยบายของแต่ละประเทศทำให้เป็นต้นทุนการทำธุรกิจที่สูง
ศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจชายแดน นอกจากการเชื่อมต่อที่เป็นหัวใจสำคัญแล้ว ยังต้องพิจารณาในเรื่อง กรอบปฏิบัติ กฎระเบียบ ข้อตกลงต่าง ๆ ระหว่างประเทศ ทั้งในระดับทวิภาคี ไตรภาคี พหุภาคี หรือในระดับอนุภูมิภาค หรือภูมิภาค ซึ่งแต่ละประเทศจะต้องปรับปรุงให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างกันให้ได้
“ที่ผ่านมาข้อต่อที่อ่อนแอที่สุดคือ จุดผ่านแดน ถือเป็นหัวใจหลักเวลาที่เราพูดถึงการเชื่อมโยง และเป็นความท้าทายอย่างมากเพราะมีการบริหารโดยนโยบายภายในของรัฐ ถ้ามีการพิจารณาให้สอดคล้องระหว่างความต้องการของภูมิภาคและความต้องการภายในจะสร้างประโยชน์มากกว่า”
ศ.ดร.รุธิร์ ชี้ว่าความสำเร็จของระเบียงเศรษฐชายแดนอยู่ที่การสร้างความคล่องตัวของข้อมูล กายภาพ และเงินทุน ซึ่งทั้งสามปัจจัยจะส่งผลให้ระเบียงเศรษฐกิจประสบความสำเร็จอย่างเต็มศักยภาพ
ภายหลังการประชุมดังกล่าว รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กรของ บพท. กล่าวว่า การเชื่อมโยงทางการค้าและมูลค่าทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอินโดจีนมีการเติบโตขึ้นมาก ขณะที่ประเทศไทยก็มีนโยบายเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษมาก แต่การเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากนโยบายนี้ยังทำได้ไม่มากเท่าที่ควร
ดังนั้น บพท.จึงตั้งเป้าหมายในปี 2566 เพื่อส่งเสริมการวิจัยด้านต่าง ๆ เช่น การเชื่อมโยงชายแดนด้วยคนและวัฒนธรรม การเชื่อมโยงด้วยโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมโยงด้วยการลงทุน และการเชื่อมโยงทางนโยบาย เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้มีข้อยืนยันชัดเจนจากข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ซึ่งระบุว่ามูลค่าการค้าชายแดนปี 2564 อยู่ที่ 1.71 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 33 จากปี 2563 ทั้งที่อยู่ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19
“เราหวังว่าจะเป็นงานวิจัยที่ทุกฝ่ายนำเอาไปใช้ประโยชน์ เพื่อช่วยขยายเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ เป็นระเบียงเศรษฐกิจที่ยั่งยืน สร้างความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย”