ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ธรรมาภิบาล ย้อนกลับ
ตำรวจเผยเตรียมจับ4,000คนโกงเคลมโควิด
17 ส.ค. 2565

นายชัยยุทธ มังศรี รองเลขาธิการด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตอนนี้สำนักงานคปภ.กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบผู้ต้องสงสัยกว่า 4,000 ราย ที่อาจเข้าข่ายพฤติกรรมฉ้อฉลประกันภัยจากกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 จากฐานข้อมูล 5-6 บริษัทประกันวินาศภัย วงเงินเอาประกันภัยประมาณ 50,000-100,000 บาทต่อราย โดยลอตแรกได้ตรวจสอบการกระทำผิดที่แน่ชัดแล้ว และได้แจ้งความดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และประมวลกฎหมายอาญา ไปจำนวนทั้งหมด 18 ราย และเพื่อยกระดับการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น คปภ.มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเชื่อมโยงข้อมูลกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อให้เป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินคดี

ด้าน พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กล่าวว่า การจับกุมผู้กระทำผิดในครั้งนี้ถือเป็นครั้งใหญ่ โดยเรื่องแรกเป็นการจับกุมเครือข่ายการโกงประกันภัยโควิดที่ฉวยโอกาสไปฉ้อโกง โดยคนร้ายใช้วิธีการชักจูงผู้เอาประกันภัยโควิดที่สนใจจะเบิกเคลมสินไหมโควิด โดยใช้ใบตรวจโควิดปลอมให้ไปแสดงผลการติดเชื้อ โดยที่ผู้เอาประกันไม่ได้ไปตรวจโควิดจริง แต่คนร้ายใช้เอกสารคนอื่นมาปลอมแปลงเปลี่ยนชื่อว่าติดเชื้อโควิด เพื่อนำเอกสารไปยื่นเบิกเคลมกับบริษัทประกันวินาศภัยโดยเมื่อได้เงินมาแล้วจะแบ่งกันคนละครึ่ง อย่างไรก็ตามตอนนี้อยู่ระหว่างสอบสวนทางคลินิกและแล็บว่ามีส่วนเกี่ยวข้องเป็นกระบวนการด้วยหรือไม่ต่อไป

ในจำนวนผู้กระทำผิดทั้งหมด 18 ราย เบื้องต้นได้ดำเนินการจับกุมมาแล้ว 11 ราย วงเงินเอาประกันภัยเฉลี่ย 50,000 บาท และกำลังติดตามจับกุมผู้กระทำผิดที่เหลืออีก 7 ราย รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 900,000 บาท โดยมีอัตราโทษจำคุกข้อหาละ 3 ปี และเรื่องที่สองได้จับกุมผู้ต้องหากลุ่มตัวแทนนายหน้าประกันชีวิตที่กระทำผิด 5 ราย และได้จับกุมมาแล้ว 3 ราย มีมูลค่าความเสียหายกว่า 53 ล้านบาท โดยลักษณะเป็นนายหน้าขายประกันที่ได้รับเงินจากลูกค้าผู้เอาประกันมาแล้ว แต่ไม่โอนเงินเข้าบัญชีบริษัทประกัน ตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ. 2535 โดยมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีเช่นเดียวกัน

นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายกฎหมายและคดี คปภ. กล่าวเสริมต่อว่า ตอนนี้ คปภ.มีระบบเอไอในการรวบรวมข้อมูล และมีทีมที่พิจารณาคดีฉ้อฉลโดยเฉพาะ ซึ่งจะมีการตรวจสอบเบื้องต้น โดยกรณีประกันโควิดจะเข้าไปสอบถามแล็บที่ออกเอกสาร RT-PCR หลังจากนั้น คปภ.จะนำข้อมูลมาประมวลผล และหากเข้าข่ายการกระทำผิดจะขอประสานความร่วมมือกับตำรวจเพื่อส่งดำเนินคดี

“ปัญหาการฉ้อฉลประกันภัยเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะกระทบภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศ และกระทบต่อการเข้าถึงประกันภัยของประชาชน โดยคนกลุ่มนี้ทำให้เราทุกคนที่สุจริตต้องจ่ายเบี้ยแพง ซึ่งจากสถิติการฉ้อฉลประกันภัยทั่วโลก พบการฉ้อฉลสัดส่วนประมาณ 10% ของเคลมสินไหมของแต่ละประเทศ ซึ่งจริง ๆ ถ้าไม่มีการฉ้อฉลประกันภัยเกิดขึ้น เราทุกคนที่สุจริตจะจ่ายเบี้ยถูกลงกว่า 10-15%” นายอดิศรกล่าว

นายอดิศรกล่าวต่อว่า โดยตั้งแต่ปี 2563 คปภ.ได้ดำเนินการจัดทำระบบฉ้อฉลประกันภัยขึ้นมา และในปี 2564 ได้ให้บริษัทประกันภัยส่งรายงานกรณีอาจเป็นการฉ้อฉลประกันภัย และในปี 2565 คปภ.เริ่มดำเนินการตรวจสอบและกลั่นกรองก่อนจะแจ้งความดำเนินคดี ทั้งนี้ จนถึงไตรมาส 1/2565 พบข้อมูลพฤติกรรมที่อาจเป็นฉ้อฉลประกันภัย 10,000 ราย (ไม่รวมฉ้อฉลประกันภัยโควิด) ส่วนใหญ่เป็นการฉ้อฉลจากประกันภัยรถยนต์และประกันภัยสุขภาพ

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...