ความเข้าใจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ของหลายคนมักนึกถึงการลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และโครงสร้างพื้นฐานหลัก รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด (ระยะที่3) โครงการท่าเรือแหลมฉบัง(ระยะที่3)
แต่ใน EEC ยังมีโครงการใหญ่ที่สำคัญอีก 2 โครงการ คือ เมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ (Smart City) และ เมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งเมืองใหม่ 2 เมืองนี้ ทางรัฐบาลผลักดันต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
เมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ 7 สมาร์ท 5 โซน
เมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ อยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. 14,619 ไร่ ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ห่างจากสนามบินอู่ตะเภา 15 กม. จะเป็นเมืองที่ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมที่ทันสมัยเข้ามาบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาเมือง และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
การใช้ประโยชน์พื้นที่ การพัฒนาระยะแรกประมาณ 5,000 ไร่ นอกจากจะมีพื้นที่สำหรับอยู่อาศัยแล้ว ยังแบ่งออกไปอีก 5 โซน คือ
1.ศูนย์กลางการเงิน ประกอบด้วยหน่วยธุรกิจการเงินและตลาดทุน หน่วยสนับสนุนการลงทุน
2.สำนักงานภูมิภาค RHQ/ศูนย์ราชการ เช่น สำนักงานภูมิภาคของธุรกิจไทย ที่มีธุรกิจในอีอีซีและสถานที่ราชการที่สำคัญ
3.การแพทย์แม่นยำ การแพทย์เพื่ออนาคต เป็นที่ตั้งของธุรกิจโรงพยาบาลชั้นนำของโลก ธุรกิจยาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย
4.การศึกษา วิจัยและพัฒนา เป็นพื้นที่สำหรับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไทยเพื่อการสนับสนุนธุรกิจเฉพาะด้าน
5.การวิจัยพัฒนาเพื่อธุรกิจเฉพาะด้าน เช่น พลังงานสะอาด ธุรกิจ5G กลุ่มโลจิสติกส์ วิทยาศาสตร์การกีฬา
อัจฉริยะ 7 ด้าน เป็นการพัฒนาเมืองภายใต้แนวคิดเมืองน่าอยู่ ทันสมัย ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข มีมิติที่สำคัญ 7 ด้านคือ
1.สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) มุ่งเน้นปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และติดตามเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ เช่น การจัดการน้ำ การดูแลสภาพอากาศ
2. การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) จะเป็นเมืองที่มุ่งเน้นความสะดวก ปลอดภัยในการเดินทางและขนส่ง เน้นใช้งานยานพาหนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น รถยนต์ไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะ รถรางไฟฟ้าสาธารณะ
3.การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) มุ่งเน้นให้บริการที่อำนวยความสะดวกต่อการดำรงชีวิต เช่น การบริการด้านสุขภาพให้ประชาชนมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี การเฝ้าระวังภัยจากอาชญากรรม
4.พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) จะมุ่งเน้นพัฒนาพลเมืองให้มีความรู้และสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต
5. พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเมือง หรือใช้พลังงานทางเลือกที่สะอาด เช่น เชื้อเพลิงชีวมวล ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
6.เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ สร้างให้เกิดความเชื่อมโยงและความร่วมมือทางธุรกิจ ประยุกต์ใช้นวัตกรรม ในการพัฒนาปรับเปลี่ยนธุรกิจ
7. การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) มุ่งเน้นพัฒนาระบบบริการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างสะดวก รวดเร็ว เพิ่มช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชน
เทียบชั้นเมืองอัจฉริยะของเกาหลีใต้ - ความน่าอยู่แบบกรุงเวียนนา
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ทำการศึกษาเมืองอัจฉริยะจากกว่า 10 ประเทศ แล้วมาลงตัวด้วยการนำเอาความเป็นเมืองอัจฉริยะแบบประเทศเกาหลีใต้ ที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมทันสมัยมาใช้ เพื่อความคล่องตัวของประชาชนผู้อยู่อาศัย หรือการทำงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ขณะเดียวกันยังจะนำเอาความเป็นเมืองสวยงามน่าอยู่ของกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ที่เน้นความร่มรื่นจากพื้นที่สีเขียว มีรถรางไฟฟ้าวิ่งร่วมรถระบบล้อพาดผ่านหน้าบ้านและที่ทำงาน มาผสมผสานเป็นต้นแบบในการพัฒนาเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ในพื้นที่EEC ของไทย
ครม.อนุมัติ เริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ปีนี้
25 มีนาคม 2565 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ สกพอ.เข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน ส.ป.ก.14,619 ไร่ ดังกล่าว เพื่อพัฒนาโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ซึ่งเป็นการเข้าใช้ที่ดินตาม พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 พร้อมทั้งเห็นชอบจัดสรรงบประมาณปี2566-2567 รวม 19,000 ล้านบาท นำไปเป็นค่าชดเชยที่ดิน ค่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบและจัดทำรายละเอียดการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ค่าปรับพื้นที่ ฯ
โดยโครงการจะมีวงเงินลงทุนรวมประมาณ 1.34 ล้านล้านบาท ภาครัฐลงทุนเอง 2.8% ร่วมลงทุนกับเอกชน 9.7% ส่วนใหญ่ที่เหลืออีก 87.5% หรือประมาณ 1.18 ล้านล้านบาท จะเป็นการลงทุนของเอกชนทั้งหมด สำหรับพื้นที่พาณิชย์และที่อยู่อาศัย
ทั้งนี้คาดว่า โครงการเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ จะเกิดการจ้างงานใหม่กว่า 200,000 ตำแหน่ง และยังจะเกิดการค้า การลงทุน จำนวนมาก ภาครัฐเองยังจะได้ประโยชน์จากค่าเช่าที่ของเอกชน ทำให้มีผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa)
เมืองใหม่อีกแห่งใน EEC คือ เมืองการบินภาคตะวันออก อยู่ในพื้นที่โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 6,500 ไร่ ใน ต.พลา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง โดยเมืองการบินภาคตะวันออก มี 6 กิจกรรมสำคัญคือ
1. การสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ของสนามบินอู่ตะเภา
2.ศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งภาคพื้นดิน
3. ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน
4. เขตประกอบการค้าเสรี และเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง
5.ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์
6. ศูนย์ฝึกอบรมการบิน
โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีงบลงทุนรวม 2.9 แสนล้านบาท รัฐบาลให้งบสนับสนุน 17,768 ล้านบาท ที่เหลืออีก 272,232 ล้านบาท ทางภาคเอกชนคู่สัญญาเป็นผู้ลงทุน มีอายุสัมปทาน 50 ปี เริ่มตั้งแต่ มิ.ย.2563
เมืองการบินภาคตะวันออก ประตูเศรษฐกิจสู่เอเชีย
เมื่อ 6 กิจกรรมสำคัญของเมืองการบินภาคตะวันออกแล้วเสร็จ จะเป็นการยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลัก แห่งที่ 3 เชื่อมต่อสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟความเร็วสูง ทำให้ทั้ง 3 สนามบินสามารถรองรับผู้โดยสารรวมกันได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี รวมทั้งจะทำให้เกิดศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจเป้าหมาย โดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมระบบการจัดส่งสินค้า และอุตสาหกรรมการบิน (Logistics & Aviation) ที่สำคัญยังจะเป็นมหานครการบินภาคตะวันออก ที่ครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่เมืองประมาณ 30 กิโลเมตรโดยรอบสนามบิน (พัทยาถึงระยอง) ซึ่งเป็นการสานต่อเจตนารมณ์การพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดที่ต้องการให้เกิดเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจสำคัญของประเทศ และเป็นส่วนขยายของกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปทางตะวันออก ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้สะดวกทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบินและประตูเศรษฐกิจสู่เอเชีย
ครม.อนุมัติสิทธิประโยชน์เมืองการบินภาคตะวันออก ผลักดันเป็นเขตการค้าเสรี
ครม. มีมติเมื่อ 9 สิงหาคม 2565 เห็นชอบมาตรการสิทธิประโยชน์ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เมืองการบินภาคตะวันออก และกำหนดให้พื้นที่เมืองการบินภาคตะวันออก (Airport City) 1,032 ไร่ (ภายในพื้นที่6,500ไร่) เป็นเขตประกอบการค้าเสรี เสมือนพื้นที่นอกประเทศ ซึ่งไม่ถูกจำกัดด้วยกฎหมายหลายประการ พร้อมจัดให้มีกิจกรรมและสันทนาการรองรับการใช้บริการตลอด 24 ชั่วโมงได้ เช่น โรงแรมระดับ 5 ดาวขึ้นไป ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลอดภาษี (Duty Free) ร้านอาหารระดับ Michelin Star งานแสดงสินค้าพื้นที่จัดการประชุม บริการความบันเทิงหลากหลายรูปแบบ
ส่วนมาตรการสิทธิประโยชน์ แบ่งเป็น 3 กลุ่มเป้าหมาย คือ
- กลุ่มผู้ประกอบกิจการในพื้นที่เมืองการบิน มีรูปแบบสิทธิประโยชน์ที่สามารถดำเนินการได้ เช่น ดำเนินกิจกรรมสันทนาการตลอด 24 ชั่วโมง จำหน่ายแอลกอฮอล์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สูงสุดไม่เกิน 15 ปี
- กลุ่มคนทำงาน รูปแบบสิทธิประโยชน์ที่สามารถดำเนินการได้ เช่น การผ่อนปรนข้อจำกัดด้านกฎหมายแรงงาน ให้คนต่างด้าวสามารถทำงานบางประเภทได้
- กลุ่มคนเดินทางและนักท่องเที่ยว รูปแบบสิทธิประโยชน์ที่สามารถดำเนินการได้ เช่น การยกเว้นภาษีอากรและภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคในพื้นที่เมืองการบินในช่วง 10 ปีแรก
หากพิจารณาโครงสร้างและกิจกรรมในเมืองการบินภาคตะวันออกแล้ว เห็นได้ว่าจะไม่มีผู้อยู่อาศัยมากเท่าเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ เพราะเมืองการบินภาคตะวันออกจะเป็นแหล่งทำงาน แหล่งการค้า เป็นศูนย์กลางการเดินทางและขนส่งสินค้า มากกว่าเป็นแหล่งพักอาศัย คาดว่าจะเกิดการจ้างงานในเมืองการบินฯ 15,600 ตำแหน่งต่อปี ในระยะ 5 ปีแรก ขณะที่ภาครัฐจะได้รับประโยชน์จากค่าเช่าที่ดินและส่วนแบ่งรายได้จากภาคเอกชน 1.326 ล้านล้านบาท ในระยะเวลา 50 ปี หรือตกปีละ 26,520 ล้านบาท ค่าจัดเก็บภาษีกว่า 62,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ่งก่อสร้างและทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา เป็นต้น
ทั้งหมดที่ว่ามาคือ 2 เมืองใหม่ ที่กำลังก่อตัวขึ้นใน EEC โดยรัฐบาลได้วางรากฐานและสานต่องานมาจนถึงขณะนี้ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จในอนาคต อันจะนำมาซึ่งการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและรายได้ที่มากขึ้นของประเทศต่อไป