นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ฐานะประธานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ในนามประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank) เปิดเผยถึง ความคืบหน้า มาตรการพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จากการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ 4.0 เพื่อขับเคลื่อนนโยบายแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งเริ่มดำเนินโครงการเพียง 2 เดือนเศษ สามารถส่งเสริมและผลักดันผู้ประกอบการเข้าสู่แหล่งทุน จำนวน 2,883 ราย วงเงินรวม 10,667 ลบ. ผ่านการอนุมัติแล้ว 833 ราย วงเงินรวมกว่า 1,562 ลบ. จะเริ่มทยอยเบิกจ่ายภายในสิ้นเดือน พ.ค. นี้
ขณะนี้ (29 พ.ค. 2560) ผู้ประกอบการได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ประกอบด้วย แหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ 1)โครงการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 20,000 ลบ. อัตราดอกเบี้ย 1% เพื่อส่งเสริมและสนับสนุน SMEs กลุ่มยุทธศาสตร์จังหวัด ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบ 438 ราย วงเงิน 1,944 ลบ. อนุมัติ 15 ราย วงเงิน 45 ลบ. เฉลี่ยรายละ 3 ลบ. 2)โครงการสินเชื่อ SMEs Transformation Loan วงเงิน 15,000 ลบ. อัตราดอกเบี้ย 3% เพื่อส่งเสริมและสนับสนุน SMEs กลุ่มนิติบุคคล เข้าสู่ระบบ 1,694 ราย วงเงิน 7,562 ลบ. อนุมัติ 306 ราย วงเงิน 1,123 ลบ. เฉลี่ยรายละ 3.6 ลบ. แบ่งเป็น 2.1)กลุ่มผู้ประกอบการที่มีปัญหาด้านสภาพคล่อง 93 ราย วงเงิน 333 ลบ. คิดเป็น 29.7%, 2.2)กลุ่มผู้ประกอบการใหม่(New/Startup) หรือที่มีนวัตกรรม 14 ราย วงเงิน 45 ลบ. คิดเป็น 4.07%, และ 2.3) กลุ่มผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มเติบโตสู่อุตสาหกรรม 4.0 จำนวน 199 ราย วงเงิน 743 ลบ. คิดเป็น 66.25%
แหล่งเงินทุนไม่มีอัตราดอกเบี้ย ประกอบด้วย 1)โครงการฟื้นฟูกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วงเงิน 2,000 ลบ. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุน SMEs ที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง อนุมัติ 269 ราย วงเงิน 237 ลบ. เฉลี่ยรายละ 0.8 ลบ. และ 2)โครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม วงเงินกองทุน 1,000 ลบ. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุน SMEs ที่ขาดเงินทุนหมุนเวียน อนุมัติ 243 ราย วงเงิน 157 ลบ. เฉลี่ยรายละ 0.6 ลบ. โดยเป็นผู้ประกอบการ SMEs คนตัวเล็ก วงเงินไม่เกิน 2 แสนบาท ได้รับความช่วยเหลือจำนวน 55 ราย วงเงิน 11 ลบ.
นอกจากนี้ ธพว. ยังปล่อยสินเชื่อฟื้นฟู SMEs จากอุทกภัยภาคใต้ ปี 2560 อัตราดอกเบี้ย 3% เพื่อช่วยเหลือ SMEs ที่ได้รับความเสียหายในเขตพื้นที่ประกาศภัยพิบัติ 12 จังหวัด มี SMEs เข้าสู่ระบบ 239 ราย วงเงิน 767 ลบ. อนุมัติ 125 ราย วงเงิน 288 ลบ. เฉลี่ยรายละ 2.3 ลบ.