ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
คลัง - ธปท. จัดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน”
02 ก.ย. 2565
หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีหลัง ที่เศรษฐกิจไทยถูกกระทบรุนแรงและเป็นวงกว้างจากสถานการณ์โควิด 19 ปัจจุบัน ที่เศรษฐกิจไทยกลับมาทยอยฟื้นตัวชัดเจนขึ้น แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง (K-shaped) ประกอบกับค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่สะดุด จึงจำเป็นต้องดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ทันเวลา โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังกลับมาไม่เต็มที่
ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การแก้ไขหนี้ทำได้อย่างยั่งยืน สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วง โดยประกอบด้วย 3 ส่วน ทั้งการ แก้หนี้เดิม เพื่อช่วยผ่อนปรนภาระให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง เติมเงินใหม่ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นและเป็นแหล่งเงินทุนเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม โดยล่าสุด ธปท. และกระทรวงการคลังได้ปรับปรุงเงื่อนไขสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจที่มีความพร้อมให้สามารถลงทุนเพื่อเสริมศักยภาพธุรกิจ ให้ทันกระแสดิจิทัลและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้คำปรึกษาและเสริมทักษะทางการเงิน ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจการเป็นหนี้และมีการวางแผนทางการเงิน โดยให้การช่วยเหลือครอบคลุมลูกหนี้ทุกประเภท ทั้งรายย่อย SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่ (สรุปสาระสำคัญตามเอกสารแนบ)
ทั้งนี้ เพื่อให้การช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ตรงจุด และทันการณ์ยิ่งขึ้น กระทรวงการคลัง กับ ธปท. จึงร่วมกันจัดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” โดยการจัดงานแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรก จะเป็นการเปิดช่องทางการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ระหว่างลูกหนี้ที่ประสบปัญหาการชำระหนี้และยังไม่ได้ความช่วยเหลือกับเจ้าหนี้ ผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน ถึง 30 พฤศจิกายน 2565 เป็นระยะเวลา 2 เดือน โดยในครั้งนี้ กระทรวงการคลัง และ ธปท. ได้จับมือกับสมาคมสถาบันการเงินต่าง ๆ และชมรมของผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน โดยขณะนี้ มีสถาบันการเงินตอบรับเข้าร่วมแล้ว 56 ราย ครอบคลุมหนี้จากสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เช่าซื้อรถ จำนำทะเบียนรถ นาโนไฟแนนซ์ รวมถึงสินเชื่อที่อยู่กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ และสินเชื่อทุกประเภทของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และระยะที่สอง กระทรวงการคลัง ธปท. ร่วมกับสมาคมสถาบันการเงินของรัฐจะเพิ่มโครงการส่งเสริมความรู้ทางการเงินควบคู่กับการสร้างวินัยทางการเงิน รวมถึงการสนับสนุนให้ประชาชนที่มีความจำเป็นสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินของรัฐ และจะจัดงานมหกรรมสัญจรทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาคทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ โดยคาดว่าจะจัดระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2565 ถึงเดือนมกราคม 2566
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า การแก้หนี้ที่ยั่งยืน นอกเหนือจากการไกล่เกลี่ยและบรรเทาภาระหนี้ที่มีอยู่เดิมแล้ว สิ่งสำคัญคือการสร้างทักษะทางการเงินและความรู้ในการประกอบอาชีพแก่ประชาชนรายย่อย เพื่อให้สามารถมีรายได้ที่เพียงพอและมั่นคง และสามารถบริหารจัดการทางการเงินต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม กระทรวงการคลังได้มีการผลักดันให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจพัฒนาองค์ความรู้ทางการเงิน ความรู้ในการประกอบอาชีพ และความรู้ด้านดิจิทัล เพื่อนำไปสื่อสารให้แก่ประชาชนรายย่อยทั่วประเทศ รวมถึงมีแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565 – 2570 โดยมีเป้าหมายในการปลูกฝังความรู้ทางการเงินตั้งแต่เด็กและต้องศึกษาเรียนรู้เรื่องนี้ไปตลอดช่วงอายุของชีวิต
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนไทยเป็นปัญหาใหญ่ที่สั่งสมมานานจากหลายสาเหตุ ซึ่งการแก้ไขต้องใช้เวลาและทำอย่างครบวงจรโดยอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ที่สำคัญ ต้องพิจารณาถึงแนวทางที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงผลข้างเคียงต่าง ๆ โดยเฉพาะต่อลูกหนี้อย่างรอบด้าน การจัดมหกรรมแก้หนี้ในครั้งนี้ จึงเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้ให้กับลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่กลับมาปกติจากสถานการณ์โควิด 19 หรือได้รับผลจากค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างครอบคลุม และตรงจุด นอกจากนี้ ในการดูแลภาระหนี้สินภาคครัวเรือนให้ครบวงจร ธปท. จะออกแนวนโยบายการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน อาทิเช่น หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (responsible lending) ซึ่งครอบคลุมการปล่อยหนี้ใหม่ที่มีคุณภาพ และการให้ข้อมูลที่ลูกหนี้ควรรู้อย่างถูกจังหวะเพื่อกระตุกพฤติกรรมให้เกิดวินัยทางการเงิน รวมถึงการมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนและประสานการทำงานของทุกภาคส่วนในเรื่องนี้ต่อไป อนึ่ง เพื่อขยายความช่วยเหลือให้ลูกหนี้เช่าซื้อลิสซิ่งได้รับความคุ้มครองทางการเงินมากขึ้น ธปท. อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อออกกฎหมายในการกำกับดูแลธุรกิจนี้เพิ่มเติมอีกด้วย
กระทรวงการคลัง และ ธปท. หวังว่า งานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน ที่ครอบคลุมประเภทหนี้และเจ้าหนี้ที่มากกว่างานครั้งก่อน จะช่วยให้ประชาชนสามารถแก้ปัญหาภาระหนี้ที่มีอยู่ได้อย่างตรงจุด สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ พร้อมกับได้รับการส่งเสริมความรู้และสร้างวินัยทางการเงิน เพื่อหลุดพ้นจากกับดักหนี้ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะเริ่มเปิดให้ลูกหนี้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2565 เป็นต้นไป
เอกสารแนบ
การแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนในช่วงที่ผ่านมาโดยกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ ครอบคลุมลูกหนี้ทุกประเภท ทั้งรายย่อย SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่ และสอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา ดังนี้
1) การแก้หนี้เดิม ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวให้สอดคล้องกับสภาพคล่องของลูกหนี้แต่ละราย ที่ช่วยสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนแก่ผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนไปจนถึงสิ้นปี 2566 ซึ่งเป็นมาตรการที่มีความยืดหยุ่นรองรับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีหน่วยงานต่าง ๆ ได้ร่วมกันแก้ปัญหาหนี้สินให้กับลูกหนี้ทุกประเภทด้วย
กลุ่มลูกหนี้ ความช่วยเหลือ
ลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่ธนาคาร (non-bank) ภายใต้มาตรการช่วยเหลือ ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2565 3.84 ล้านบัญชี 2.9 ล้านล้านบาท
ลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งได้รับการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ 340,000 ราย
ลูกหนี้ครูที่ได้เข้าร่วมโครงการสร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย กว่า 41,000 ราย
ลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ได้เข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ กว่า 87,000 ราย
ลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่จะมีการปรับปรุงสัญญาให้เกิดความเป็นธรรมและมีการกำกับดูแลการทำธุรกรรมโดยธนาคารแห่งประเทศไทย -
2) การเติมเงินใหม่ ผ่านโครงการสินเชื่อซอฟต์โลน สินเชื่อฟื้นฟู และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ที่ได้มีการปรับเงื่อนไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วง โดยล่าสุดได้มีการปรับเงื่อนไขให้รองรับการปรับตัวของผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งเป็นการดำเนินการควบคู่กับสินเชื่อฟื้นฟูระยะที่ 2 เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ที่มีความพร้อมในการปรับตัวให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ในขนาดวงเงินที่เหมาะสมกับความต้องการเงินลงทุน โดยปัจจุบัน ณ วันที่ 22 สิงหาคม 2565 มีผู้ประกอบการ SME ได้รับความช่วยเหลือภายใต้โครงการดังกล่าวไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 133,245 ราย เป็นวงเงิน 324,989 ล้านบาท นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังมีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ เช่น โครงการสร้างงานสร้างอาชีพ โครงการสินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) Re-open ธุรกิจโรงแรมและ Supply Chain ของโรงแรม โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย เป็นต้น
3) การให้คำปรึกษา และการให้ความรู้เพื่อเสริมทักษะทางการเงิน ทั้งผ่านโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน โดยเจ้าหน้าที่ของ ธปท. และ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีลูกหนี้ขอรับคำปรึกษากว่า 4,500 ราย พร้อมมอบหมายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ทักษะการประกอบอาชีพ และความรู้ด้านดิจิทัลให้กับลูกหนี้ต่อเนื่อง และการกำหนดให้ผู้กู้ยืมเงินกองทุน กยศ. จะต้องผ่านหลักสูตรการพัฒนาทักษะทางการเงินภาคบังคับก่อนที่จะสำเร็จการศึกษา นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565 – 2570 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้คนไทยตระหนักรู้ มีทักษะในการบริหารจัดการเงินอย่างมีประสิทธิภาพและมีวินัยทางการเงิน เพื่อสร้างความมั่นคงและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับตนเองและครอบครัว
หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...