‘สินิตย์’ มอบกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ลงพื้นที่นราธิวาส ติวเข้มผู้ประกอบการรุ่นใหม่และเกษตรกร ทั้งการใช้ประโยชน์จาก FTA กฎระเบียบทางการค้า และโอกาสในตลาดการค้าเสรี พร้อมหนุนสินค้าดาวเด่น อาทิ ผ้าปาเต๊ะ ทุเรียนแช่แข็ง และอาหารทะเลแปรรูป ส่งออกตลาดต่างประเทศ แนะพัฒนาผลิตภัณฑ์ ใช้นวัตกรรมเพิ่มมูลค่าสินค้า และช่องทางเจาะตลาดออนไลน์และออฟไลน์ ตอบโจทย์ผู้บริโภครุ่นใหม่
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ดำเนินโครงการ “การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่ตลาดการค้าเสรีอาเซียน” ณ จังหวัดนราธิวาส ระหว่างวันที่ 15 - 17 สิงหาคม ที่ผ่านมา เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) กฎระเบียบทางการค้า และโอกาสในตลาดการค้าเสรี ให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ MOC Biz Club จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนราธิวาส ปัตตานี และยะลา รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์การค้าและการส่งออก พร้อมแนะนำให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรสามารถพัฒนาไปเป็นผู้ส่งออกที่มีประสิทธิภาพ
“ปัจจุบันผู้ประกอบการรุ่นใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก โดยเป็นการรับช่วงธุรกิจหรือต้องการมีธุรกิจเป็นของตนเอง ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความริเริ่มและปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว สามารถใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสร้างสรรค์ธุรกิจ และเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างดี ดังนั้น ผู้ประกอบการควรศึกษากฎระเบียบทางการค้าและใช้ประโยชน์จาก FTA เพื่อพัฒนาธุรกิจในยุคการค้าเสรีอได้ย่างยั่งยืน” นายสินิตย์กล่าว
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมได้นำทีมสภาเกษตรกรแห่งชาติ และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนราธิวาส จัดสัมมนาให้ความรู้เรื่องการใช้ประโยชน์จาก FTA ที่ไทยจัดทำ 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ พร้อมทั้งเปิดเวทีวิเคราะห์สินค้าศักยภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ ผ้าปาเต๊ะ ผ้าบาติก อาหารทะเลแปรรูป ผลไม้สดและแปรรูป และเครื่องดื่มจากรำข้าว โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศและนักการตลาดให้คำแนะนำเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การใช้นวัตกรรมสร้างความแตกต่างเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า กลยุทธ์การเจาะตลาดออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคในปัจจุบันที่เน้นสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐาน สินค้าสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ Future Food นอกจากนี้ การใช้ Soft Power เรื่องวัฒนธรรมด้านอาหารและศาสนา ซึ่งจะเป็นเครื่องมือขยายการส่งออกไปตลาดอาเซียนและตลาดฮาลาล
สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้ กรมได้พบปะกับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนผ้าปาเต๊ะบาโงเปาะเล็ง (นินาปาเต๊ะ) อำเภอสุไหงโกลก ซึ่งเป็นผู้ผลิตผ้าปาเต๊ะพิมพ์มือแห่งเดียวของจังหวัด ที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์และงดงาม โดยเฉพาะลายดอกไม้และใบไม้มากกว่า 1,000 แบบ และมีการผลิตผ้าปาเต๊ะที่แตกต่างจากอินโดนีเซีย ในส่วนของการพบปะกับผู้ประกอบการบริษัท ซัน โฟรเซ่น ฟรุ้ต จำกัด ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส อำเภอยี่งอ
ซึ่งเป็นโรงงานศูนย์กลางการรวบรวมและแปรรูปผลไม้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะใช้เทคโนโลยีแช่เยือกแข็งผลิตทุเรียนแช่แข็ง ส่งออกไปตลาดจีนและตลาดมาเลเซีย ซึ่งช่วยให้เกษตรกรมีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน
นอกจากนี้ ยังได้พบปะกับผู้ประกอบการบริษัท นาราสมุทร จำกัด อำเภอเมืองนราธิวาส ซึ่งเป็นผู้ผลิตข้าวเกรียบกรือโป๊ะ ภายใต้แบรนด์ข้าวเกรียบปลา “Befish” ถือเป็นอาหารว่างที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมของมลายูทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซีย ใช้เนื้อปลาทูและปลาหลังเขียวเป็นวัตถุดิบหลัก ซึ่งรับซื้อจากชาวประมงพื้นบ้าน
ทั้งนี้ จังหวัดนราธิวาสยังเป็นแหล่งสินค้าเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ มะพร้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ อาทิ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง รวมถึงอาหารทะเลแปรรูป