ทีเส็บพัฒนาไมซ์ภูมิภาค นำอัตลักษณ์ชุมชนมาใช้ผลิตสินค้าป้อนการจัดงานไมซ์ ภายใต้กิจกรรม “Product MICE Premium” ยกระดับการพัฒนาสินค้าผ่าน วัฒนธรรม วิถีชีวิตและทรัพยากรในชุมชน สร้างโอกาสต่อยอดธุรกิจ ปลุกตลาดของที่ระลึกสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์มูลค่ากว่า 2,100 ล้านบาท
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า “ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 ทีเส็บพัฒนาโครงการไมซ์สร้างสรรค์ รวมพลังชุมชนทั่วไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำอัตลักษณ์ชุมชนมาสร้างเสน่ห์ที่แตกต่างให้กับการจัดงานไมซ์ และสร้างความประทับใจให้นักเดินทางไมซ์ที่มาทำกิจกรรมไมซ์ในพื้นที่ ซึ่งกิจกรรมสำคัญภายใต้โครงการ คือ “Product MICE Premium” หรือการนำสินค้าและบริการของท้องถิ่นมาต่อยอดและพัฒนาเป็นสินค้าสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ อาทิ การจัดเลี้ยงอาหาร ของว่าง ของชำร่วย หรือของฝาก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าหรือบริการของชุมชนในพื้นที่
จากข้อมูลการจัดประชุมและงานแสดงสินค้าในประเทศไทย พบว่ามีมูลค่าตลาดของที่ระลึกสำหรับการจัดงานไมซ์ปีละ 2,100 ล้านบาท สัดส่วนของที่ระลึกชาวต่างประเทศ 400 ล้านบาท และของที่ระลึกชาวไทย 1,700 ล้านบาท เปิดโอกาสทางการตลาดให้กับไมซ์ซิตี้ทุกภูมิภาค สามารถใช้ทรัพยากร วัตถุดิบ ตลอดจนการขายสินค้าชุมชนคุณภาพดีที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก โครงการนี้จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ใช้ไมซ์เป็นเครื่องมือกระจายรายได้ และสร้างโอกาสต่อยอดเศรษฐกิจภูมิภาคทั่วประเทศ”
ทีเส็บ คัดเลือกสินค้าชุมชนสำหรับการจัดงานไมซ์จากองค์ประกอบ 3 ด้าน คือ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และวัตถุดิบของชุมชน จากนั้นจึงเข้าไปร่วมพัฒนา แปรรูปลักษณ์สินค้า และบรรจุภัณฑ์ให้มีมาตรฐานเหมาะสมตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายตลาดไมซ์ ทั้งสินค้าของที่ระลึกประจำถิ่น และอาหารที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่น โดยทำงานร่วมกับชุมชนใน 3 ภูมิภาค คือ ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยปัจจุบันมีสินค้ารวมทั้งสิ้น 15 รายการ อาทิ
ภาคใต้ - กระเป๋าผ้าลายสายแร่ จากชุมชนบ้านนาคา ขนมหน้าแตก จากชุมชนเมืองเก่าภูเก็ต พายสับปะรด จากชุมชนบ้านบางโรง
ภาคเหนือ – กระเป๋าคลัตช์ จากชุมชนออนใต้ ชากุหลาบอินทรีย์ จากสวนบัวชมพู ที่ใส่น้ำหอม อโรม่า จากชุมชนนันทาราม
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ – หมวกไหมอีรี่ จากชุมชนผ้าไหมหนองหญ้าปล่อง เส้นพาสต้าโปรตีนจิ้งหรีด จากวิสาหกิจชุมชนฅนค้นแมลง เกลือสินเธาว์ (Dinosaur Rock Salt) จากชุมชนกลุ่มผลิตสมุนไพรไทยบ้านบ่อ
ด้านการพัฒนาสินค้าบริการและส่งเสริมการตลาด “Product MICE Premium” ทั้ง 3 ภูมิภาค ให้เหมาะสมกับสินค้าและพื้นที่ มีดังนี้
สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการภาคใต้ ร่วมมือกับพันธมิตรในพื้นที่ และจัดทำเวิร์กชอปกับเจ้าของสินค้าบริการในชุมชน รวมถึงจัดหาที่ปรึกษาด้านการทำสินค้าพรีเมียมมาให้คำแนะนำ พร้อมนำเสนอสินค้าผ่านช่องทางการประชาสัมพันธ์ของทีเส็บและพันธมิตร ในปีนี้ได้ขยายการทำงานร่วมกับจังหวัดภูเก็ต สงขลา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ และระนอง โดยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จัดงาน “ไมซ์ บาร์ซาร์” เพื่อเป็นเวทีส่งเสริมการตลาดและเจรจาต่อยอดธุรกิจสำหรับ “Product MICE Premium” ขึ้นเป็นครั้งแรกที่จังหวัดภูเก็ต และประสบความสำเร็จอย่างสูง มีผู้ผลิตสินค้าจากไมซ์ซิตี้ทั่วประเทศเข้าร่วมงานกว่า 28 ราย ในส่วนของผู้ซื้อประกอบด้วยองค์กร สมาคมธุรกิจภาคใต้ 27 แห่ง และองค์กร สมาคมจากภาคต่าง ๆ อีก 10 แห่ง มีผู้ซื้อจากทั้งนอกและในพื้นที่ภาคใต้ รวม 68 ราย ผู้ขาย 16 ราย เกิดการจับคู่เจรจาธุรกิจ 381 คู่
สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการภาคเหนือ ส่งเสริมการตลาด “Product MICE Premium” โดยสร้างเวทีเจรจาธุรกิจให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้ อาทิ ดอยตุง วิสาหกิจเพื่อสังคมประชารัฐรักสามัคคี รวมถึงบริษัทผู้ให้บริการด้านจัดการการเดินทาง (Destination Management Company - DMC) ทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งมุ่งเน้นให้ความรู้ชุมชนในการนำ Soft Power มาใช้สร้างสรรค์สินค้าบริการ โดยปีนี้ขยายกิจกรรมจากจังหวัดเชียงใหม่ เพิ่มเติมไปยังสุโขทัย และพิษณุโลก โดยดำเนินงานกับภาคเอกชน อาทิ ดิ อิมพีเรียล โฮเต็ล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ พิษณุโลก นำวัตถุดิบพื้นถิ่นมาทำเมนูอาหารทางเลือกที่แสดงอัตลักษณ์จังหวัด พร้อมผลักดันสินค้าเข้าสู่การจัดงานสำคัญของจังหวัด อาทิ ผลักดันผลิตภัณฑ์กล้วยห่อธัญพืชของพิษณุโลก ให้เป็นอาหารว่างสำหรับนักปั่นจักรยานที่เข้าร่วมงาน L'Etape Phitsanulok by Tour de France 2022 ที่จะจัดขึ้นเดือนธันวาคมนี้
สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เน้นส่งเสริมการตลาด และการขายครบวงจร จัดทำข้อมูลประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านสื่อออนไลน์ จัดเวทีเจรจาธุรกิจในพื้นที่ และร่วมบูรณาการแผนงานกับหอการค้า สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวประจำไมซ์ซิตี้ทั้ง 3 เมือง คือ ขอนแก่น นครราชสีมา และอุดรธานี พร้อมพิจารณาแผนการขยายกิจกรรมในจังหวัดที่มีศักยภาพได้แก่ บุรีรัมย์ และอุบลราชธานี เพื่อพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ไมซ์ของอีสานป้อนเข้าสู่ตลาดไมซ์ให้กับสถานที่จัดงาน ได้แก่ โรงแรม รวมถึงศูนย์ประชุมและงานแสดงสินค้าในพื้นที่
นายจิรุตถ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนชุมชนพัฒนาสินค้าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เพื่อตอบโจทย์นักเดินทางไมซ์ ที่ขณะนี้มีเทรนด์ความต้องการสัมผัสประสบการณ์วิถีชีวิต และอัตลักษณ์ของคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น อาหาร ผลิตภัณฑ์ ของชำร่วย และของฝาก ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2566 ทีเส็บเตรียมแผนจัดงานใหญ่ต่อยอดส่งเสริม “Product MICE Premium” ได้แก่ งาน “ไมซ์ บาร์ซาร์” ณ ภาคใต้ เกาะสมุย จ. สุราษฎร์ธานี และงาน “MICE Mart” เปิดตลาดสินค้า ISAN MICE ณ จ. ขอนแก่น ที่เน้นการเจรจาธุรกิจของผู้ประกอบการทั้งหมดในภาคอีสานอีกด้วย”