คมนาคมกางไทม์ไลน์มอบสิทธิ ทอท.เข้าบริหาร 3 ท่าอากาศยานภูมิภาค อุดรธานี บุรีรัมย์ และกระบี่ คาดทยอยบริหารอย่างเป็นทางการ เริ่ม เม.ย.2566
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2565 เห็นชอบในหลักการให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เข้าไปเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลและบริหารจัดการ 3 ท่าอากาศยานแทนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ประกอบด้วย 1.ท่าอากาศยานอุดรธานี 2.ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และ 3.ท่าอากาศยานกระบี่
โดยปัจจุบัน ทอท.ได้กำหนดแผนการดำเนินงาน (Action Plan) เข้าไปบริหารจัดการท่าอากาศยาน เบื้องต้นอยู่ระหว่างเร่งศึกษาตามข้อสังเกตของกระทรวงการคลัง เพื่อนำเสนอรายละเอียดทั้งหมดสู่ที่ประชุม ครม.พิจารณาอีกครั้ง คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายใน พ.ย. 2565 เสนอ ครม. รับทราบในช่วง ม.ค. 2566 จากนั้น ทอท. และ ทย. จะลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) เพื่อมอบสิทธิบริหารท่าอากาศยาน
สำหรับแผนโอนสิทธิบริหาร ทย.จะทยอยโอนสิทธิท่าอากาศยานกระบี่ และท่าอากาศยานบุรีรัมย์ให้ ทอท. ในช่วง ม.ค. 2566 จึงคาดการณ์ว่า ทอท. จะสามารถเริ่มให้บริการ 2 ท่าอากาศยานดังกล่างอย่างเป็นทางการภายใน เม.ย. 2566 ส่วนท่าอากาศยานอุดรธานี ทย.จะยื่นขอโอนสิทธิให้ ทอท. ได้ใน ก.พ. 2566 และคาดการณ์ว่า ทอท.จะให้บริการอย่างเป็นทางการได้ภายใน พ.ค. 2566
ในส่วนของการดำเนินการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ (ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) ปัจจุบัน ทย. และ ทอท. อยู่ระหว่างเตรียมการในกรณีที่ราชพัสดุของทั้ง 3 ท่าอากาศยานร่วมกับกรมธนารักษ์ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน ธ.ค. 2565 จากนั้น ทย.จะแจ้งความประสงค์เป็นหนังสือให้ความยินยอมให้กรมธนารักษ์นำที่ราชพัสดุที่อยู่ในความครอบครองของ ทย.ไปจัดให้ ทอท.เช่า ก่อนที่ ทอท.จะยื่นคำขอใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ และลงนามข้อตกลง/สัญญาใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุต่อไป
ส่วนสังหาริมทรัพย์ (ครุภัณฑ์) ทย.จะจัดทำเป็นบัญชี เพื่อขายหรือโอนทรัพย์สินให้แก่ ทอท. เสร็จภายใน ธ.ค. 2565 ก่อนที่ ทอท.ดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ และ ทย.ขายหรือโอนครุภัณฑ์ให้แก่ ทอท. โดยท่าอากาศยานกระบี่ และท่าอากาศยานบุรีรัมย์กระบวนการนี้ จะแล้วเสร็จภายใน มี.ค. 2566 ส่วนท่าอากาศยานอุดรธานี เสร็จภายใน เม.ย. 2566
สำหรับแผนพัฒนาท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง ทอท. มีกรอบวงเงินลงทุนประมาณ 9,199.90 ล้านบาท (กรณีท่าอากาศยานพังงา เปิดให้บริการในปี 2574) หรือวงเงินลงทุนรวม 10,471 ล้านบาท (กรณีท่าอากาศยานพังงาไม่เปิดให้บริการ) แบ่งเป็น ท่าอากาศยานอุดรธานี กรอบวงเงินลงทุน 3,523 ล้านบาท, ท่าอากาศยานบุรีรัมย์460 ล้านบาท และท่าอากาศยานกระบี่ แบ่งเป็น วงเงินลงทุน 5,216 ล้านบาท (กรณีท่าอากาศยานพังงาเปิดให้บริการในปี 2574) และถ้ากรณีท่าอากาศยานพังงาไม่เปิดให้บริการ วงเงินลงทุนจะอยู่ที่ 6,487 ล้านบาท
ทั้งนี้ การให้ ทอท. เข้าไปบริหารจัดการแทน ทย.จะเป็นการเพิ่มการเพิ่มศักยภาพและบทบาทของท่าอากาศยานในภูมิภาคของ ทย. ที่ปัจจุบันมีบทบาทเป็นท่าอากาศยานระดับจังหวัด (Local airport) เพื่อยกระดับเป็นท่าอากาศยานระดับภาค (Regional Airport) และท่าอากาศยานศูนย์กลางรอง (Secondary Hub Airport) ในอนาคต