สสว. จับมือ ส.อ.ท. จัดงาน Digital Transfer Matching Day และ Medical Showcase & Networking เปิดพื้นที่เชื่อมโยงผู้ประกอบการ SME เข้าสู่ระบบจัดซื้อภาครัฐ คาดสร้างเม็ดเงินกว่า 50 ล้านบาท
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ตามที่กรมบัญชีกลาง ปรับปรุงแนวทางปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) ซึ่งให้แต้มต่อกับ SME สำหรับผู้ประกอบการที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้มาตรการสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (THAI SME-GP)
ในปีนี้ สสว.ได้จัดทำโครงการพัฒนายกระดับผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐใน 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ อุตสาหกรรมการแพทย์, อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการบินและชิ้นส่วนอากาศยาน
สำหรับความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในการยกระดับ 2 อุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมการแพทย์และดิจิทัล ในครั้งนี้ได้สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการSME กว่า 1,750 ราย ได้ทราบถึงกฎกระทรวงดังกล่าว และทราบถึงแนวทางในการเป็นคู่ค้ากับภาครัฐได้มากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับคัดเลือกให้เข้าสู่การพัฒนาเตรียมความพร้อมเชิงลึกเพื่อให้มีความพร้อมในการยืนเสนองานภาครัฐได้
ทั้งนี้ การสร้างโอกาสในการได้นำเสนอสินค้าและบริการให้กับผู้สนใจในครั้งนี้ ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดีที่ผู้ประกอบการจะได้มีโอกาสได้แนะนำสินค้าและบริการต่างๆ ให้กับผู้ซื้อที่เป็นหน่วยงานราชการ หน่วยงานเอกชน รวมไปถึงโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสทางการค้าต่อในอนาคต
นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า การจัดกิจกรรมเชื่อมโยงการตลาดถือเป็นโอกาสที่ดีในการการสร้างเครือข่ายการเชื่อมโยงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายของอุตสาหกรรมดิจิทัลและอุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งในสถานการณ์ที่ผู้ประกอบการ SME ได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัยมานานไม่ว่าจะเป็น COVID-19 ผลกระทบจากต้นทุนด้านพลังงาน และค่าแรงงานที่กำลังปรับตัวสูงขึ้น
การสร้างโอกาสทางการค้า การหาตลาดเพิ่ม เป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ประกอบการ SME โดยเฉพาะตลาดภาครัฐที่มีงบประมาณการจัดซื้อค่อนข้างแน่นอนในแต่ละปี ยิ่ง SME ได้แต้มต่อ10% เพิ่มเติมตามกฎกระทรวงฯ รวมถึงรายที่ได้การรับรอง Made in Thailand ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันการทำงานและการสื่อสารเข้าสู่รูปแบบดิจิทัลกันเกือบทั้งหมด ดังนั้นผู้ประกอบการSME ไทยในอุตสาหกรรมดิจิทัลและเกี่ยวเนื่องก็มีโอกาสในการขยายตลาดเพิ่มขึ้น หน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะภาครัฐก็เริ่มปรับระบบสู่ดิจิทัลกันมากขึ้น ซอฟต์แวร์การบริหารงานในสำนักงาน หรือระบบการประชุมปัจจุบันก็เป็นรูปแบบออนไลน์เกือบ 100% ซึ่งผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าและบริการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้ทุกรูปแบบ
เช่นเดียวกับเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ที่คาดหวังว่าหน่วยงานหรือโรงพยาบาลต่างๆ จะได้เห็นศักยภาพของผู้ประกอบการไทยที่มีการวิจัยและพัฒนาสินค้าและบริการได้มาตรฐานและคุณภาพมากขึ้น ถือเป็นอีกทางเลือกให้ทางโรงพยาบาลได้พิจารณานำไปใช้ให้บริการ
โดยการจัดกิจกรรม Digital Transfer Matching Day สำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัล และงานMedical Showcase & Networking ให้กับอุตสาหกรรมการแพทย์ ซึ่งได้คัดเลือกผู้ประกอบการนำสินค้าและบริการเข้าร่วม Showcase กว่า 80 บริษัท มีสินค้าและบริการทางด้านดิจิทัลต่างๆ มานำเสนอในงาน อาทิ AI, Software ระบบ Training , ROBOT, ERP, แพลตฟอร์มการสื่อสารในสำนักงาน, อุปกรณ์ที่ใช้ในห้องประชุมระบบดิจิทัล
สำหรับอุปกรณ์การแพทย์ มีสินค้าในกลุ่ม ครุภัณฑ์ทางการแพทย์, เวชภัณฑ์และอุปกรณ์เครื่องมือ, ชุดน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค, ซอฟแวร์ระบบบริหารจัดการโรงพยาบาล การแจ้งเตือนติดตามผู้ป่วย/ผู้สูงอายุ และครุภัณฑ์-เวชภัณฑ์ทันตกรรม โดยมีผู้ซื้อจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่สนใจกว่า 40 รายเข้าร่วมในการซื้อขายภายในงาน ซึ่งคาดว่าจะเกิดมูลค่าการซื้อขายกว่า 50 ล้านบาท