ตราด/ ( 4 ต.ค.65) หัวมันเทียนเป็นอาหารพื้นบ้านของชาวตราดนับวันยิ่งหากินยาก หนึ่งปีมีครั้งเดียว ที่จะได้กินกัน นางสำอาง อิ่มอุไร อายุ 65 ปี นางไพเราะ สอนมณี อายุ 62 ปี ชาวบ้านบ้านคลองมะนาว ม.4 ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ช่วยกันขุดหัวมันเทียน บริเวณป่าริมลำคลองท้ายหมู่บ้าน เพื่อนำมาประกอบอาหาร บริเวณที่ขุดหาหัวมันเทียนจะเป็นป่าริมลำคลอง ใต้ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ริมลำคลอง หลังจากเดินหาเถาของหัวมันเทียนได้ ก็จะใช้เสียมค่อยๆบรรจงขุดเจาะพื้นที่บริเวณโคนเถา การขุดจะต้องค่อยๆขุดเจาะเป็นหลุมเล็กๆลงไปเรื่อยๆ จนพบหัวมันเทียนแล้ว ก็จะต้องค่อยๆขุดรอบหัวเป็นหลุมลึกลงไปในดิน ตามความยาวของหัวมันเทียน จากนั้นค่อยๆดึงเอาหัวมันเทียนซึ่งมีความยาวออกจากหลุม แต่ในการขุดหาหัวมันเทียนมีความยุ่งยากตรงที่หลุมลึกต้องใช้วิธีนอนตะแคง และใช้มือล้วงลงไปดึงหัวมันเทียนออกมา บางคนแขนสั้นอาจจะใช้วิธีก้มหน้าโก้งโค้งก้นล้วงเอาหัวมันเทียนออกมา เนื่องจากต้องระวังหัวมันเทียนหักเสียหาย จะทำให้ขายไม่ได้ราคา สำหรับหัวมันเทียนที่ขุดได้ จะขายสดราคา กก.ละ 100 บาท
นางไพเราะเล่าว่าหัวมันเทียนเป็นพืชไม้เถา เลื้อยและพันไปตามต้นไม้อื่น ใบเล็กเรียว มีดอกสีเขียว เมื่อดอกแก่ก็จะขุดหัวมันเทียนไปทำอาหารได้ โดยการขุดของชาวบ้านจะใช้วิธีขุดใต้โคนเถา ตัดหัวมันเทียนออกไปจากโคนเถาหลังจากนั้นจะใช้ดินกลบโคนเถาไว้ดังเดิม ให้เถาออกหัวมาใหม่ในปีต่อไป ซึ่งในป่าแห่งนี้ยังมีหัวมันเทียนอยู่อีกมาก หัวมันเทียนจะชอบขึ้นอยู่ในป่าที่เป็นดินปนทรายเท่านั้น ปัจจุบันพื้นที่ถูกแผ้วถางทำแปลงเกษตรบ้าง ก่อสร้างที่อยู่อาศัยบ้าง จนทำให้หัวมันเทียนค่อยๆหายไปเรื่อยๆ ชาวบ้านจึงต้องช่วยกันอนุรักษ์หัวมันเทียนที่ยังเหลืออยู่ด้วยการขุดหัวมันเทียนแบบอนุรักษ์ดังกล่าว
สำหรับหัวมันเทียนมีลักษณะเป็นหัวเรียว ยาวขนาดเท่าท่อนแขน จะนำมาล้างน้ำให้สะอาด ก่อนนำไปต้มให้สุกนานประมาณ 20 นาที หลังจากนั้นจะนำมาปอกเปลือกออกและหั่นเป็นชิ้นแนวเฉียง นำไปทำอาหารได้หลายเมนู แต่เมนูเด็ดคือต้มกะทิ โดยการขูดมะพร้าว คั้นกะทิ ก่อนนำหางกะทิใส่หม้อตั้งไฟให้เดือด ใส่หัวมันเทียนที่หั่นไว้แล้วลงไป ปรุงรสด้วยน้ำตาลทราย และเกลือเล็กน้อย พอเดือดอีกครั้งใส่หัวกะทิลงไป ชิมรสให้ได้หวาน มัน เค็มพอดี ตั้งไฟต่ออีกประมาณ 10 นาที ให้กะทิเข้ากับเนื้อหัวมันเทียนดีแล้วยกลง ซึ่งต้มกะทิหัวมันเทียนจะมีรสชาติ หวาน มัน เค็มกลมกล่อมเนื้อเหนียวนุ่มอร่อยอย่าบอกใคร นางสำอาง บอกว่าเมนูจากหัวมันเทียนเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบสานต่อๆกันมานานนับร้อยปีแล้ว หนึ่งปีจะมีให้กินครั้งเดียว ระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคมของทุกปีเท่านั้น
ทีมข่าว จ.ตราด