นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจของโลกเริ่มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Global Recession) มีความรุนแรงและส่งผลกระทบโดยตรง ทั้งต่อกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งเผชิญปัญหาแรงกดดันจากเงินเฟ้อ ในขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาประสบปัญหาเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า และมีความบอบบางสูง ไปจนถึงกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งกำลังพบกับวิกฤตขั้นเลวร้าย
สำหรับประเทศไทย ก็ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยนี้เช่นกัน โดยนอกจากการฟื้นตัวที่ช้าแล้ว ยังต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ ราคาสินค้าต้นทุนที่สูง ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยอาจสะดุดลง
นายญนน์ กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับราคาพลังงานที่ปรับตัวขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ค่าจ้างแรงงานมีการปรับอัตราใหม่ และภาคค้าปลีกและบริการ ยังคงมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานอยู่ ประกอบกับภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี
"โจทย์สำคัญ คือ จะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นฟู และเดินหน้าต่อไปได้ในทิศทางที่ถูกต้อง คิดว่าภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยคือคำตอบ และถือเป็นเครื่องจักรตัวสุดท้ายที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเดินไปข้างหน้า เพราะภาคการท่องเที่ยวมีอัตราการเติบโตสวนทางกับเครื่องจักรทางเศรษฐกิจตัวอื่นๆ และมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยจะมีมากถึง 10 ล้านคน ภายในปี 65 ซึ่งจะส่งผลโดยตรงให้ภาคค้าปลีกและบริการฟื้นตัวและเติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ" นายญนน์ กล่าว
ทั้งนี้ ภาคค้าปลีกและบริการมีจำนวน SMEs มากถึง 2.4 ล้านราย คิดเป็น 80% ของ SMEs ทั้งประเทศ อีกทั้งยังมีการจ้างงานในระบบกว่า 13 ล้านราย คิดเป็น 30% ของการจ้างงานทั้งหมด โดยภาคค้าปลีกและบริการ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกว่า 34% ของ GDP หรือกว่า 5.6 ล้านล้านบาท
ดังนั้น ถ้า SMEs ฟื้นตัวและโตขึ้น เศรษฐกิจของประเทศก็จะโต สมาคมฯ จึงตั้งเป้าที่จะผลักดันเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน โดยจะมีการเพิ่มการจ้างงานมากกว่า 500,000 อัตรา ภายในปี 66 เพิ่มรายได้และช่องทางการจัดจำหน่ายให้ SMEs ผ่านภาคีเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมยกระดับให้ SMEs ไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีระดับโลก ด้วยกลยุทธ์ TRA NEXT (ทีอาร์เอ เน็กซ์) ดังนี้
1. New S-Curve of SMEs สร้างความเข้มแข็งให้ SMEs ด้วยการเพิ่มรายได้ เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย และเพิ่มการจ้างงาน
• เพิ่มอัตราการจ้างงานอีกกว่า 500,000 อัตรา ภายในปีหน้า พร้อมผลักดันการจ้างแรงงานประจำรายชั่วโมง สำหรับธุรกิจที่เริ่มฟื้นตัว เพื่อให้เกิดการยืดหยุ่นและเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ
• ช่วย SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างง่าย สะดวก และรวดเร็ว ผ่าน "Digital Supply Chain Financing" และคงมาตรการช่วยเหลือ SMEs ไทย โดยการลด Credit Term สั้นลง และจ่ายเงินให้รวดเร็วเพื่อเสริมสภาพคล่อง และช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เป็นการสร้างแต้มต่อให้ SMEs ไทยสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
• ขยายช่องทางการจำหน่ายให้กับ SMEs ในหมวดสินค้าท้องถิ่นผ่านภาคีเครือข่ายของสมาคมฯ เพื่อสร้างรายได้
• สร้างความคล่องตัวและลดค่าใช้จ่ายให้ SMEs ในการดำเนินธุรกิจ (Ease of Doing Business) ด้วยการผลักดันนโยบาย E-Service ภาครัฐ เริ่มจากการลดขั้นตอนขอใบอนุญาตเปิด และต่ออายุร้านอาหาร รวมทั้งจะมีการขยายผลไปยังกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ต่อไป
2. Environment and Sustainable Development สมาคมฯ ผนึกกำลังร่วมกับสมาชิก และภาคีเครือข่ายเพื่อส่งเสริมให้ SMEs ทำธุรกิจที่มีการเติบโตแบบยั่งยืน บนหลักการ BCG (Bio-Circular-Green Economy)
• เร่งสนับสนุนให้สมาชิกในภาคีเครือข่ายร่วมปณิธานในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Commitment) ภายในปี 2593 เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของภาครัฐ
• ผลักดันอย่างต่อเนื่องในการดำเนินโครงการจัดการอาหารส่วนเกินที่ยังรับประทานได้ และการจัดการขยะของเสียอย่างครบวงจร เพื่อให้สามารถนำขยะไปรีไซเคิล และนำกลับมาใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ได้ เช่น ปุ๋ยในการทำการเกษตร และก๊าซหุงต้ม เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ภาคค้าปลีกและบริการ เป็นตัวอย่างในการดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและชุมชน
• ช่วยพัฒนาการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของคู่ค้า และผลักดันให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมในโครงการ Net Zero ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดจำนวนขยะ ลดการใช้พลังงาน เป็นต้น
• สนับสนุนการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ด้วยการรณรงค์การปลูกป่า การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV (Electric Vehicle) และการใช้พลังงานจากโซล่าร์รูฟ (Solar Roof) ในกลุ่มสมาชิกและภาคีเครือข่ายของสมาคมฯ
3. eXpand TRA to the Global Stage ยกระดับสมาคมฯ และเครือข่ายภาคค้าปลีกไทยสู่ระดับสากล เพื่อเป็นการขยายฐานสมาชิก และเป็นการเพิ่มช่องทางการขายและรายได้ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศให้ SMEs ไทย
• มู่งสู่การเป็นผู้นำภาคค้าปลีกและบริการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยการตั้งเป้าในการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมสมาพันธ์ผู้ค้าปลีกแห่งเอเชียแปซิฟิก (FARPA) ครั้งต่อไปในปี 2568 ที่มีผู้นำค้าปลีกกว่า 20 ประเทศ ทั่วภูมิภาคเข้าร่วม
• ขยายความร่วมมือระหว่างประเทศในการแลกเปลี่ยนทางธุรกิจและสินค้า โดยจะเริ่มความร่วมมือในเฟสแรกกับสมาคมผู้ค้าปลีกในประเทศเวียดนาม (Association of Vietnam Retailers) และสมาคมมิตรภาพไทย-เวียดนาม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ไทยและเวียดนามในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ ถือเป็นการช่วยเหลือภาคีเครือข่ายและ SMEs ไทยให้มีช่องทางการขายและเพิ่มรายได้มากขึ้น
4. Tourism Reimagination สร้างการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวคุณภาพสูงมีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เป็นการสร้างการจ้างงานและเพิ่มรายได้ให้กับ SMEs ไทย
• สนับสนุนนโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมการสร้างศักยภาพให้ประเทศไทยมีความพร้อมในเรื่องของการดึงดูดและรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง และนักลงทุนต่างชาติที่พำนักในไทยระยะยาว
• ผลักดันให้มีการกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวคุณภาพมีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น โดยยกระดับให้ประเทศไทยเป็น "สุดยอดการใช้ชีวิตแห่งเอเชีย" รวมทั้งสนับสนุนภูเก็ตให้เป็นเมืองแห่ง Lifestyle and Free Port Hub เพื่อให้ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการดึงดูดนักท่องเที่ยว และสามารถเพิ่มการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยว เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับภาคค้าปลีกและบริการ
"กลยุทธ์ TRA NEXT คิดขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือ และสนับสนุน SMEs ไทยเป็นหลัก ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการสร้างงานใหม่ในระบบ เป็นการเพิ่มรายได้และช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าให้กับ SMEs ไทย ดังนั้น สมาคมฯ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ที่จะร่วมผลักดันกลยุทธ์ TRA NEXT นี้ให้เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว และเติบโตอย่างแข็งแกร่งกว่าที่เคยเป็นมา" นายญนน์ กล่าว