ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
กดาหาร ชูจุดแข็งด้านโลจิสติกส์ ประตูตะวันออกสู่อาเซียนพลัส นำยุทธศาสตร์ “ท่าเรือบก” มากระตุ้นนักลงทุนในกลุ่มอินโดจีน
12 มิ.ย. 2560

นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานสัมมนาศักยภาพการค้าการลงทุนเป็นประตูตะวันออกสู่อาเซียนพลัส นำยุทธศาสตร์ “ท่าเรือบก” มากระตุ้นนักลงทุนในกลุ่มอินโดจีน เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2560 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นท์ กรุงเทพฯ

นายสรสิทธิ์ ฤทธิ์สรไกร ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร เผยในปี 2559 มีมูลค่าการค้า ผ่านชายแดนมุกดาหาร ณ ด่านศุลกากรมุกดาหาร รวม 135,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 67 โดยมีมูลค่าการส่งออก 75,000 ล้านบาท มูลค่าการนำเข้า รวม 60,000 ล้านบาท ดุลการค้า 15,000 ล้านบาท มูลค่าการค้าผ่านแดน 15,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 113 ร้อยละ 32 และ ร้อยละ 23 และร้อยละ 19 ตามลำดับ สินค้าส่งออก5 รายการแรกได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องประมวลผลข้อมูล แผ่นวงจรพิมพ์ น้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนประกอบกล้องและน้ำตาลทรายส่วนสินค้านำเข้า 5 รายการแรกได้แก่ ทองแดงบริสุทธ์ พลังงานไฟฟ้า ส่วนประกอบของกล้อง หน่วยประมวลผลข้อมูล เครื่องโทรศัพท์ เสื้อเบลาส์ เชิร์ทสตรี หรือเด็ก  สำหรับ ใน 4 เดือนแรกของปี 2560 มีมูลค่าการค้ารวม 60,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 94  ซึ่งสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ส่งออกไป สปป.ลาว เวียดนาม จีนและฮ่องกง ส่วนนำเข้าเป็นสินค้าจาก สปป.ลาว เวียดนาม จีน อเมริกาและญี่ปุ่น

           และเพื่อรองรับการค้าและการลงทุน ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร ในปีนี้ จังหวัดมุกดาหารได้รับงบประมาณดำเนินการหลายโครงการฯ จัดทำขึ้นเพื่อตอบสนองด้านการขนส่งไปสู่อาเซียนตะวันออก อาทิ โครงการก่อสร้างทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร (แนวใหม่) สาย บ. นาไคร้-อ.คำชะอี (ทางหลวง) วงเงินค่าก่อสร้างรวม 2,400 ล้านบาท, โครงการพัฒนาทางหลวงเพื่อสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทางหลวงหมายเลข 212อ.หว้านใหญ่-อ.ธาตุพนม(ทางหลวง) วงเงินค่าก่อสร้างรวม 1,046 ล้านบาท, นอกจากนี้รัฐบาลได้มีแผนโครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ หรือโครงการรถไฟทางคู่ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ซึ่งได้ผ่านการ ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 และกระทรวงคมนาคมจะเสนอ ครม.ให้พิจารณาในเดือนมิ.ย.60 และยังไม่นับรวมโครงการเพื่อส่งเสริมการขนส่งขนาดเล็กอื่นๆ และโครงการสาธารณูประโภคต่างๆ ที่มีอีกหลายโครงการ   คาดว่าจะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ให้มากขึ้น โดยทุกโครงการฯ ที่กล่าวมาเมื่อรวมกันแล้วก็จะทำให้มุกดาหารกลาย เป็นท่าเรือบกตามแผนยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้ และเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าและอำนวยความสะดวกไปสู่อาเชียนตะวันออก ซึ่งได้แก่ประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนาม และไกลไปถึงประเทศจีนตอนใต้ ซึ่งหากนับมูลค่าโดยรวมของทุกโครงการฯ จะสูงถึง 10,000 ล้านบาท

 

        นายสรสิทธิ์ ฤทธิ์สรไกร ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า “มุกดาหารมีจุดแข็งทางด้านยุทธศาสตร์  4 ด้านที่สำคัญในกลุ่มอาเซียนตะวันออก คือ1)ด้านทำเลที่ตั้งเป็นจังหวัดชายแดน ติดกับแขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรมากถึง 1 ล้านคน เป็นอันดับ 2 รองจากเวียงจันทน์ 2)อยู่กึ่งกลางตามแนวเส้นทางเชื่อมโยงโครงการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวระเบียงตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC) โดยมีสะพานมิตรภาพ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) เชื่อมต่อกับเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี ประเทศเมียนมา, เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก, มุกดาหาร, เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และยังสามารถใช้เส้นทางหมายเลข 9 เข้าสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษลาวบาว ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 1A หรือ AH16 เพื่อออกสู่ท่าเรือดานัง และยังสามารถใช้เส้นทางหมายเลข 9 –เลี้ยวซ้ายที่เมืองอุทุมพร –เข้าสู่เส้นทางหมายเลข13 ไปถึงเมือง  ท่าแขก แขวงคำม่วน เชื่อมต่อเส้นทางหมายเลข 12 ขึ้นไปยังเวียดนามตอนเหนือ เพื่อเข้าสู่ตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษฉงจั่ว, เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง มลฑลกว่างซี ซึ่งมีนครหนานหนิงเป็นเมืองหลวง และมีประชากรมากกว่า 100 ล้านคน และยังสามารถเชื่อมต่อกับอีก 2 เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย ได้แก่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย และนครพนม ด้วยเส้นทางรถไฟโครงการทางหลวงเชื่อมอินเดีย-เมียนมา-ไทย ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในระยะทาง 1,600 กิโลเมตร  ซึ่งจะทำให้การเดินทางจากจากเมืองโมเรห์ เมืองชายแดนของแคว้นมณีปุระประเทศอินเดีย ผ่านเข้ามาถึงเมืองมัณฑเลย์ เมืองใหญ่อันดับ ของประเทศเมียนมา ทะลุต่อมาจนถึง อ.แม่สอด จังหวัดตาก ของประเทศไทย ซึ่งสามารถมาเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟของจังหวัดตาก–มุกดาหาร และยังเชื่อมโยงต่อไปได้กับโครงการก่อสร้างทางรถไฟลาว-จีน หรือที่เรียกกันว่าทางรถไฟ คุนหมิง-สิงคโปร์ ตามนโยบาย One Belt, One Road ของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจะสามารถเชื่อมต่อมายังมุกดาหาร-สะหวันเซโน ด้วยเส้นทางรถไฟบ้านไผ่-นครพนม และสามารถเชื่อมต่อไปยังเวียด นาม-จีนตอนใต้ ด้วยโครงการสร้างรถไฟสายสะหวันเขต-ลาวบาวที่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวกับประเทศเวียดนามและ3)เป็นจุดเชื่อมต่อ ระหว่างแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก (EWEC) กับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) โดยในปัจจุบันด่านศุลกากร จ.มุกดาหาร เป็นด่านที่มีการส่งออกสินค้าชิ้น ส่วนอิเลคโทรนิค จากผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกของไทย ซึ่งนำไปประกอบที่โรงงานอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจสะหวัน-เซโน แขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และยังเป็นด่านที่มีการนำเข้า และนำผ่านสินค้าอิเลคโทรนิค และอื่นๆ จากเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน เพื่อส่งออกไปสู่ตลาดโลก ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ดังนั้นโครงการรถไฟทางคู่ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางขนส่งสินค้า และพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างมากมาย

       4) จังหวัดมุกดาหารมีความสัมพันธ์อันดียิ่งกับประเทศเพื่อนบ้าน  โดยลงนามMOUเป็นเมืองคู่แฝดกับแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว จังหวัดกวางตรี สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และจังหวัดฉงจั่ว สาธารณรัฐประชาชนจีน

และจากการที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ได้กำหนดให้เขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดา หาร ได้มุ่งเน้นหรือส่งเสริมในธุรกิจหรืออุตสาหกรรม  5 ประเภทกิจการ ได้แก่ 1)อุตสาหกรรมการเกษตร ประมง และกิจการที่เกี่ยวข้อง 2)อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 3)กิจการโลจิสติกส์ 4)นิคมหรือเขตอุตสาหกรรม 5)กิจการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว จึงได้มีมาตรการเพื่อช่วยเหลือนักลงทุนในด้านภาษีส่วนลดหย่อนต่างๆ มากมาย ประกอบด้วย  1)สิทธิประโยชน์  ประกอบด้วยสิทธิพิเศษในอัตราค่าเช่า และค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่าที่ราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ คือ 1.1)ค่าธรรมเนียมจัดให้เช่าที่ดินตลอดระยะเวลา 50 ปี ค่าเช่า 160,000 บาท/ไร่ (จ่ายครั้งเดียว) 1.2)อัตราค่าเช่า (ปรับค่าเช่าร้อยละ 15 ทุก 5 ปี) โดยมีค่าเช่า 24,000 บาท/ไร่ (จ่ายทุกปี) 2)สิทธิพิเศษในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหารสำหรับกิจการเป้าหมาย คือ 2.1)ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี (จำกัดวงเงินไม่เกินร้อยละ 100) และ 2.2) ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มอีก 5 ปี  2.3)หักค่าขนส่ง ไฟฟ้า ประปา 2 เท่า เป็นระยะเวลา 10 ปี 2.4)หักค่าติดตั้งหรือก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกได้ร้อยละ 25  ของเงินลงทุนนอกเหนือจากการหักค่าเสื่อมราคาตามปกติ 2.5)ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร  2.6)ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบที่ใช้ผลิตเพื่อการส่งออก 2.7)อนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือ  และสุดท้ายคือ 2.8)สิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาษีอากร เช่น    การถือครองที่ดิน การนำช่างฝีมือต่างด้าวมาทำงาน เป็นต้น  

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...