ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 19 ต.ค. 65 พล.อ.อ. ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี และคณะ เดินทางมาตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลเบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.ศรีสะเกษ ต.เสียว อ.เบญจลักษ์ จ.ศรีสะเกษ โดยมีนายสำรวย เกษกุล รอง ผวจ.ศรีสะเกษ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมหัวหน้าส่วนราชการให้การต้อนรับ นพ. โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กรรมการมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล กล่าวรายงาน นพ.พัฒนศักดิ์ ทั่งนาค ผอ.โรงพยาบาลเบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา บรรยายสรุปการดำเนินงานของโรงพยาบาลเบญจลักษ์
***หลังจากรับฟังบรรยายสรุปแล้ว องคมนตรี ได้ให้คำแนะนำการดำเนินงาน ก่อนที่จะเยี่ยมชมนิทรรศการศิลปะจากชมรมศิลปินอีสาน ณ อาคารภูมิพัฒน์ จากนั้น องคมนตรีได้เปิดป้ายโรงงานผลิตเครื่องสำอางจากวัตถุดิบสมุนไพร เยี่ยมชมการดำเนินงาน SMART Hospital ณ อาคารผู้ป่วยนอก เยี่ยมชมนิทรรศการผลการดำเนินงานเด่นของโรงพยาบาลเบญจลักษ์ฯ ณ ลานกิจกรรมหน้าอาคารผู้ป่วยใน เยี่ยมผู้ป่วยในและมอบของเยี่ยม จำนวน 20 ราย ณ อาคารผู้ป่วยในพิเศษ จากนั้น องคมนตรีได้ปลูกต้นไม้ไว้เป็นที่ระลึก และร่วมถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ณ อาคารภูมิพัฒน์
โรงพยาบาลเบญจลักษ์ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เป็นโรงพยาบาล ขนาด 30 เตียง รับผิดชอบ ประชากร จำนวน 35,963 คน มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 6 แห่ง ปัจจุบันมีบุคลากรทั้งสิ้น 139 คน ประกอบด้วย แพทย์ 5 คน ทันตแพทย์ 3 คน เภสัชกร 4 คน นักเทคนิคการแพทย์ 2 คน แพทย์แผนไทย 3 คน พยาบาลวิชาชีพ 39 คน นักกายภาพ 2 คน และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ โดยปัจจุบันให้บริการผู้ป่วยนอกเฉลี่ย 247 คนต่อวัน และผู้ป่วยในเฉลี่ย 24 คนต่อวัน จำนวนวันนอนโรงพยาบาล เฉลี่ย 3 วัน โรคที่พบมาก 5 อันดับแรกของผู้ป่วยนอก ได้แก่ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคความดันโลหิตสูง โรคติดเชื้อ COVID-19 โรคคออักเสบเฉียบพลัน และโรคไข้หวัด โรคที่พบมาก 5 อันดับแรกของผู้ป่วยใน ได้แก่ โรคไข้ไม่ทราบสาเหตุ โรคไตเรื้อรัง อาหารไม่ย่อย ผิวหนังอักเสบ และโรคปอดอักเสบ
ความภาคภูมิใจและผลลัพธ์การดำเนินงานที่สำคัญ 1. ด้านการพัฒนาโรงพยาบาลเป็นโรงพยาบาลเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยศูนย์การเรียนรู้ตามแนวพระราช ปณิธานและถ่ายทอดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงผ่านนิทรรศการและภาพวาด ณ “อาคารภูมิพัฒน์” ส่งเสริมการปลูกผักอินทรีย์เพื่อจำหน่ายให้กับชุมชน และโรงเรียน โรงพยาบาลถ่ายทอดความรู้การใช้ประโยชน์จากพืชและสมุนไพรในท้องถิ่น เพื่อการบำบัดโรค ใน ปี 2563-2565 มีนักเรียนเข้าศึกษาดูงานและผ่านการอบรม 4 รุ่น จำนวน 200 คน กิจกรรม “ย้อนรอยวิถีชาวนาไทย” ประจำปีและส่งเสริมกิจกรรมด้านพลังงานด้วยการติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ ผลการดำเนินงาน (รอบ 7 เดือน ) สามารถลดค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเดือนละ 18,218.57 บาท 2. ด้านส่งเสริมสุขภาพ จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพทุกกลุ่ม บูรณการร่วมกับกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ในปัญหาที่พบบ่อยในพื้นที่ อาทิ แก้ปัญหาด้านสุขภาพจิต การลดอุบัติเหตุในพื้นที่ พัฒนาภูมิสถาปัตย์และสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลให้ร่มรื่นด้วยต้นไม้ ร่มเย็นด้วยระบบบริการ 3. มีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยที่ตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการ เป็นหน่วยรับส่งกลับจากโรงพยาบาลแม่ข่ายเพื่อให้ผู้ป่วยและญาติเรียนโปรแกรมการล้างไตทางช่องท้อง คลินิกเฉพาะทางโรคไต คลินิกชะลอไตเสื่อม คลินิกล้างไตทางช่องท้อง ขึ้นทะเบียนคลินิกผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง จากสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยปี 2564 มีแพทย์ประจำผ่านการอบรมวางสายทางช่องท้อง ดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3-5 ทั้งในเขต - นอกเขต จำนวน 326 คน ดูแลผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง ทั้งในเขต - นอกเขต จำนวน 98 คน.
ณัฐธรชนม์ สิริโชติสกุล / ศรีสะเกษ