นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า เนื่องในวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และรัฐบาลยังได้กำหนดให้เป็นวันชาติ วันศูนย์รวมจิตใจความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ และวันพ่อแห่งชาติ การรถไฟฯ จึงได้จัดกิจกรรม เดินขบวนพิเศษรถจักรไอน้ำนำเที่ยว เฉลิมพระเกียรติ 5 ธันวาคม เพื่อแสดงความจงรักภักดีและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาสุดมิได้ต่อกิจการรถไฟไทย รวมถึงโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอื่นๆ อีกนับพันโครงการ ที่สร้างความผาสุกแก่พสกนิกรภายในประเทศ
ในโอกาสนี้ การรถไฟฯ ได้นำหัวรถจักรไอน้ำ รุ่นแปซิฟิก หมายเลข 824 และ 850 รุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลิตโดยบริษัท นิปปอน ชาร์เรียว จำกัด ซึ่งปัจจุบันได้เก็บรักษาและซ่อมบำรุงอยู่ที่โรงรถจักรธนบุรี มาจัดเดินขบวนพิเศษรถจักรไอน้ำนำเที่ยว เส้นทางสายประวัติศาสตร์ระหว่างสถานีกรุงเทพถึงสถานีฉะเชิงเทรา เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ โดยเริ่มจำหน่ายตั๋วโดยสาร ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป อัตราค่าโดยสาร รถธรรมดาชั้น 3 ไป - กลับ ผู้ใหญ่/เด็ก ราคา 299 บาท และตู้โดยสารปรับอากาศ (รถโอทอป) ราคา 799 บาท โดยผู้โดยสารจะได้รับบริการอาหารว่างและน้ำดื่มทั้งเที่ยวไป - กลับทุกที่นั่ง
ผู้สนใจสามารถติดต่อซื้อตั๋วและสำรองที่นั่งล่วงหน้าด้วยระบบ D-Ticket หรือที่สถานีรถไฟทุกแห่งทั่วประเทศ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ศูนย์บริการข้อมูลลูกค้าสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเว็บไซต์ www.railway.co.th หรือเฟซบุ๊ก แฟนเพจ ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย
สำหรับเส้นทางขบวนรถจักรไอน้ำพิเศษนำเที่ยวเส้นทางกรุงเทพ – ฉะเชิงเทรา – กรุงเทพ ขบวนที่ 903/904 จะออกจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เวลา 08.10 น. ถึงสถานีฉะเชิงเทราเวลา 09.50 น. นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวภายในจังหวัดฉะเชิงเทราได้ตามอัธยาศัยประมาณ 6 ชั่วโมง อาทิ กราบสักการะหลวงพ่อพระพุทธโสธร พระพุทธรูปสำคัญของจังหวัดฉะเชิงเทรา ณ วัดโสธรวรารามวรวิหาร ไหว้ขอพรพระพิฆเนศวัดสมานรัตนาราม เดินชม ช้อปสินค้าที่ตลาดบ้านใหม่
จากนั้นขบวนรถเที่ยวกลับออกจากสถานีฉะเชิงเทรา เวลา 16.30 น. ถึงกรุงเทพ เวลา 18.10 น. โดยมีสถานีที่หยุดรับ - ส่งผู้โดยสาร ได้แก่ สถานีมักกะสัน คลองตัน หัวหมาก ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถขึ้นหรือลงตามสถานีดังกล่าว ขณะเดียวกันยังขอเชิญชวนประชาชนทั่วไปที่อาศัยอยู่ใกล้เส้นทางรถไฟสายกรุงเทพ – ฉะเชิงเทรา สามารถร่วมบันทึกภาพหัวรถจักรไอน้ำในเส้นทางที่ขบวนรถวิ่งผ่านได้ตลอดเส้นทาง