นายชัยณรงค์ โชไชย ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า อยู่ระหว่างการกำหนดคุณสมบัติและทำกรอบการฝึกอบรมผู้บังคับหลักประกัน ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้รับมอบหมายในการออกใบอนุญาตการเป็น ผู้บังคับหลักประกัน ภายใต้พ.ร.บ.หลักประกัน ทางธุรกิจ ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2559 ในเบื้องต้นผู้ที่จะได้รับใบอนุญาต ต้องเป็นผู้ที่มีวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการบังคับหลักประกัน มีประสบการณ์เกี่ยวกับการบังคับหลักประกัน หรือเรียนจบมาในสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้สอบบัญชี ทนายความ และอื่นๆ
โดยในการอบรมจะมี 4 ด้านคือ ความรอบรู้ในเรื่องกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายที่ดิน กฎหมายภาษี ความรอบรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการ การเงินการธนาคาร ความรอบรู้ด้านการไต่สวน วินิจฉัยคดี กรณีเกิดการโต้แย้งขึ้น การเรียกหลักฐานและการประเมินราคาทรัพย์สิน สุดท้ายคือเรื่องจริยธรรม ซึ่งตั้งเป้าก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ จะมีผู้บังคับหลักประกันที่ได้ใบอนุญาตไม่ต่ำกว่า 100 คน
"ผู้บังคับหลักประกันจะถือเป็นวิชาชีพเฉพาะใหม่อีกอาชีพหนึ่งก็ว่าได้ ซึ่งการออกใบอนุญาตให้นั้นจะให้เป็นรายบุคคล โดยผู้บังคับหลักประกันจะเข้ามาช่วยประเมิน ตีมูลค่าของกิจการให้ผู้ประกอบการและสถาบันการเงิน ในกรณีที่เกิดการโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่างผู้รับหลักประกัน (สถาบันการเงิน) และผู้ให้หลักประกัน (เจ้าของกิจการหรือผู้กู้) ที่เป็นการนำกิจการมาเป็นหลักประกัน จึงถือเป็นคนกลางที่สำคัญในกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ"
สำหรับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ นับเป็นมิติใหม่ของแวดวงธุรกิจและภาคการเงินของไทย ผู้ประกอบการสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ได้แก่ กิจการ สิทธิเรียกร้อง สังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และทรัพย์สินทางปัญญา มาใช้เป็นหลักประกันในการชำระหนี้ โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สิน นั้นๆ ซึ่งจะเป็นการทำให้เอสเอ็มอีมีโอกาสเข้าถึง แหล่งเงินทุนได้มากขึ้น
ทั้งนี้เอสเอ็มอีที่สนใจควรเตรียมตัวไว้ล่วงหน้าในเรื่องของทรัพย์สิน จะต้องมีแผนบริหารทรัพย์สินของตัวเองให้เกิดรายได้ที่จะนำมาสู่การตีมูลค่าทรัพย์สิน การรักษาทรัพย์สินให้มีสภาพคงเดิม ส่วนกรณีนำกิจการมาเป็นหลักประกัน จะต้องมีแผนการสร้างรายได้ เอกสารสิทธิ และหลักฐานต่างๆ เพราะเมื่อกฎหมายฉบับนี้มีผล บังคับใช้ ก็สามารถจะยื่นขอกู้จากสถาบันการเงินได้ทันที
อย่างไรก็ตาม จากการหารือกับสถาบันการเงินต่างๆ พบว่ามีความพร้อมในเรื่องนี้ เพราะมีหน่วยงานพิจารณาสินเชื่ออยู่แล้ว ส่วนเอสเอ็มอีเองก็จะต้องเตรียมพร้อม โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้จัดเตรียมผู้อบรมที่จะเข้าไปให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายหลักประกันอย่าง ต่อเนื่อง นอกจากนี้ธนาคารโลกยังคาดการณ์ด้วยว่าในปีแรกหลังจากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะส่งผลให้ยอดสินเชื่อขยายตัว 8-10% รวมทั้งเชื่อว่าจะส่งผลให้ตัวชี้วัดด้านการให้สินเชื่อ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจที่จัดโดยธนาคารโลกดีขึ้นด้วย