ต่อจากนั้น ภาคพิธีการเริ่มด้วยความศิริมงคล โดยการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่าน โดย อ.มูฮัมมัดชุกรี่ บัลบาห์ ประธานสถาบันอัลกุรอ่านประเทศไทย และพิธีเปิดงานโดย นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานกรรมการธนาคารกล่าวต้อนรับและเปิดงาน
“ผมขออวยพรให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมทุกคนสามารถบำเพ็ญกุศล ถือศีลอดในเดือนรอมฎอนได้บรรลุผลสำเร็จตามเจตนารมณ์ทุกประการ ตลอดจนการชำระ ซะกาตในเดือนรอมฎอน ซึ่งไอแบงก์ เปิดให้บริการอำนวยความสะดวกให้พี่น้องมุสลิม ชำระซะกาต บัญชีซะกาต ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ขอให้ผลของการบำเพ็ญตน ส่งเสริมให้ทุกคนประสบแต่ความสุข ความเจริญ และสัมฤทธิ์ผลในสิ่งอันพึงปรารถนาโดยทั่วกัน“ และในนามของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ขอขอบคุณท่านสื่อมวลชนมุสลิมทุกท่านที่ได้ร่วมเผยแพร่ข่าวสารของธนาคารด้วยดีเสมอมา” นายชัยวัฒน์ กล่าว
ต่อด้วยการเสวนาของคณะที่ปรึกษาด้านชะรีอะฮ์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ประเด็น “ชะรีอะฮ์กับบทบาทธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อพี่น้องมุสลิม” โดยวิทยากร ประกอบด้วย
อ.อรุณ บุญชม ผู้ชำนาญการด้านชะรีอะฮ์ ดร.อณัส อมาตยกุล ประธานคณะที่ปรึกษาด้านศาสนา ดร.มะรอนิง สาแลมิง ที่ปรึกษาด้านศาสนา อ.ปราโมทย์ มีสุวรรณ ที่ปรึกษาด้านศาสนา อ.เสนีย์ อยู่เป็นสุข ที่ปรึกษาด้านศาสนา และนายสัญญา ปรีชาศิลป์ ผู้จัดการบริหารส่วนสื่อสารองค์กร ดำเนินการเสวนา
อ.เสนีย์ อยู่เป็นสุข กล่าวว่า “หากท่านต่างๆ ตั้งบริษัทของตนขึ้น มาตรฐานก็จะต่างกัน เราก็จะรู้จักในส่วนขององค์กรของตัวเอง สิ่งหนึ่งที่อิสลามมีคือ ชะรีอะฮ์ซึ่งมีมาตรฐานเดียว ไม่เหมือนกันองค์กรที่ตั้งขึ้นมามีหลายมาตรฐาน ธนาคารอิสลามถูกสร้างขึ้นมาบนพื้นฐานของชะรีอะฮ์ ความรับผิดชอบตรงนี้บางครั้งเราทำหน้าที่เต็มกำลังความสามารถแล้ว ชะรีอะฮ์บนความสามารถของมนุษย์ไม่สามารถทำได้ทุกเรื่องเพราะมนุษย์มีข้อบกพร่อง ฉะนั้นชะรีอะฮ์ของธนาคารอิสลามเราทำเต็มกำลังความสามารถของเราเท่าที่เรามีความสามารถ”
ดร.อณัส อมาตยกุล กล่าวย้ำก่อนการจบการเสวนาว่า “ถึงความจำเป็นที่พี่น้องมุสลิมต้องใช้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยว่า “คำสอนอิสลามที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงิน ทรัพย์สิน การค้าขาย และการลงทุน มีอยู่ในชะรีอะฮ์ โลกมุสลิมก็ใช้แบบนี้มาตลอด เพียงแต่ว่าในศตวรรศที่ 17-19 ชาวตะวันตกได้ออกล่าอาณานิคมไปทั่วโลก ทุกแห่งที่เขายึดได้สิ่งแรกก็คือ การบังคับให้เลิกใช้ชะรีอะฮ์ ดั้งนั้นในช่วง 300 ปีทำให้มุสลิมไม่ได้ใช้ชะรีอะฮ์ในเรื่องธุรกรรมทางการเงินเลย ดังนั้นเมื่อประเทศมุสลิมได้รับเอกราชจึงไม่มีธนาคารอิสลาม ที่เป็นเช่นนี้เพราะเราถูกบีบบังคับให้เลิกใช้ชะรีอะฮ์ แต่บัดนี้เมื่อมีเสรีภาพ รัฐธรรมนูญไทยได้ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา เมื่ออัลลอฮตะอาลาทรงประทานให้ดินแดนแห่งเสรีภาพนี้เรามีสิทธิ์ที่จะใช้การทำอามาล อิบาดะห์ และมุอามาลาต ในธุรกรรมทางการเงินได้ จึงถือเป็นวายิบ(หน้าที่)สำหรับพวกเราทุกท่านในการฟื้นฟูอิสลาม และหวังว่าพวกเราจะก้าวเข้ามาแบกรับภาระทำให้ชะรีอะฮ์นี้มั่นคงบนหน้าแผ่นดิน”
ก่อนจบงาน นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ได้ให้เกียรติ ขึ้นกล่าวแสดงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาของไอแบงก์ว่า “หลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อวันที่ 30 พ.ค.60 ที่ผ่านมาให้กระทรวงการคลังเพิ่มทุนธนาคารอิสลามฯ 18,100 ล้านบาท พร้อมให้โอนหนี้เสียไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ IAM ยกเว้นหนี้เสีย 3,600 ล้านบาทในส่วนลูกค้าที่เป็นมุสลิม และนายกรัฐมนตรีย้ำให้หาคนทำให้ไอแบงก์เสียหายให้ได้ และในฐานะประธานกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และทีมงานได้เดินหน้างานฟื้นฟูตามแผนงานต่างๆ เพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาได้”