นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ภายในไม่เกินเดือน ธ.ค. นี้ รัฐบาลจะมีมาตรการด้านเศรษฐกิจออกมา ที่จะเป็นการสร้างโอกาสในการสร้างรายได้ ซึ่งต้องรอดูว่าจะมีมาตรการอะไรบ้าง
ทั้งนี้ สถานการณ์ด้านแรงงานของไทยในไตรมาส 3 ปี 2565 ดีขึ้น โดยการว่างงานลดลง แต่แรงงานยังได้รับผลกระทบในเรื่องค่าครองชีพ ที่มาจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่อยู่ระดับสูง ราคาพลังงานพุ่งขึ้น
“โดยรวม คือตอนนี้สภาพเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่เรื่องแรงงาน ก็ต้องดูแลเรื่องภาระค่าครองชีพของแรงงาน ซึ่งมาตรการที่จะออกมา จะเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชน” นายดนุชา กล่าว
นอกจากนี้ รัฐบาลจะมีการเร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทุกภัย โดยเฉพาะเกษตรกร ตลอดจนการพิจารณาแพ็กเกจสินเชื่อสำหรับซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งจะต้องมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ เพื่อไม่สร้างภาระให้กับครัวเรือนมากเกินไป
นายดนุชา กล่าวว่า ขณะที่หนี้สินครัวเรือน ยังต้องดูแล ต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อยานยนต์ กลุ่มที่มีปัญหาจากโควิด-19 และ กลุ่มผู้สูงอายุ ที่ตัวเลขหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) กระโดดขึ้นมาค่อนข้างมาก
“หนี้เสียครัวเรือนเพิ่มจากระดับ 2.7 ล้านบัญชี ในไตรมาสแรกปี 2565 มาเป็น 4.3 ล้านบัญชีในไตรมาส 2 ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล ฉะนั้น ยังมีบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอยู่ หนี้เสียที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้เพราะเจอผลกระทบโควิดอย่างเดียว แต่มีเรื่องเงินเฟ้อที่อยู่ระดับสูง ราคาแก๊ส ราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นมาด้วย แน่นอนว่าตรงนี้จะยังมีผลกระทบอยู่” นายดนุชา กล่าว
เลขาธิการ สศช. กล่าวอีกว่า ในปีหน้า เศรษฐกิจโลกก็คงชะลอ ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรม และ ภาคธุรกิจ ก็คงต้องบริหารความเสี่ยงค่อนข้างมาก โดยภาคการท่องเที่ยวปีหน้าน่าจะไปได้ดีอยู่ ส่วนภาคส่งออก คงต้องมาดูรายอุตสาหกรรม ตอนนี้ยังตอบได้ไม่ชัด ว่าถ้าเศรษฐกิจโลกชะลอ อุตสาหกรรมไหนจะกระทบบ้าง
“ผมคิดว่า แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว แต่ภาคเศรษฐกิจเรา น่าจะยังเดินได้อยู่ ต้องดูไตรมาสแรกปีหน้า และต้องมอนิเตอร์ต่อเนื่อง แต่เราต้องเตรียมตัว แรงงานก็ต้องเตรียมตัว การก่อหนี้ก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น แล้วก็ต้องพัฒนาทักษะให้เพิ่มขึ้น” นายดนุชา กล่าว